ปี 2563 นับเป็นปีที่คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใช้บริการออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการช้อปปิ้งออนไลน์และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แต่หนึ่งในธุรกิจที่สวนกระแสและได้รับอานิสงส์เติบโตแบบก้าวกระโดดคือ “E-commerce” ซึ่งมีการคาดการณ์มูลค่าตลาดรวมอีคอมเมิร์ซของไทยปี 2563 จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35 หรือ 2.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีมูลค่า 163,300 ล้านบาท การที่ธุรกิจ E-commerce ถือเป็นธุรกิจดาวเด่น เพราะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นด้วย 3 ช่องทางหลัก คือ e-Marketplace, Social Commerce และ e-Retail (e-Brand)
ทั้งนี้ สัดส่วนมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยโดยเฉพาะ B2C (Business-to-Consumer) และ C2C (Consumer-to-Consumer) พบว่าช่องทาง E-Marketplace (Lazada, Shopee) มีสัดส่วนสูงสุดร้อยละ 47 เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 35 ส่วน Social Media (Facebook, Instagram, Line) มีสัดส่วนลดเหลือร้อยละ 38 จากปีที่ผ่านมามีสัดส่วนร้อยละ 40 ส่วนช่องทางทางเว็บไซต์ Official ลดเหลือร้อยละ 18 จากปีที่ผ่านมามีสัดส่วนร้อยละ 25
ในส่วนของจีนนับว่าเป็นยักษ์ใหญ่ด้าน E-commerce โลก ซึ่งได้นำจุดแข็งด้านเทคโนโลยีและระบบ e-Commerce Ecosystem มาช่วยพัฒนาและส่งเสริมชุมชนนอกเขตเมืองให้มีรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ป้องกันไม่ให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานของคนในชนบท โดยรัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการขยายตลาดออนไลน์ให้สามารถเข้าถึงคนในชนบทให้ได้มากขึ้น ถึงแม้คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานด้านการทำ E-commerce มากนัก แต่ทางรัฐบาลมองว่าคนเหล่านี้สามารถพัฒนาให้กลายเป็นหนึ่งในกำลังขับเคลื่อนสำคัญในตลาดออนไลน์ได้ จึงดำเนินการให้เกิดการขายสินค้าชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อเพิ่มฐานการผลิตสินค้าสู่ตลาดภายนอก รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในตลาดให้กับชุมชนชนบทมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะและกำลังคนให้มีความรู้ด้านดิจิทัลและการใช้งานอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการจัดตั้ง “หมู่บ้าน E-commerce” จำนวน 3,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นให้การสนับสนุนทั้งเชิงนโยบายและมาตรการต่าง ๆ อาทิ ด้านการขนส่ง ด้านการเงิน และด้านเทคโนโลยี
ดังนั้น E-commerce ถูกนำไปใช้กับผู้ผลิตและกิจการรายย่อยในชนบท เนื่องจาก รัฐบาลจีนมองว่าการจะเข้าถึงผู้ผลิตและผู้ค้าปลีกรายย่อยเพื่อสามารถกระจายสินค้าไปยังเมืองต่างๆ ได้นั้น รัฐบาลส่วนกลางไม่สามารถออกเงินทุนได้แต่ฝ่ายเดียว ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นเองก็ถือว่าเป็นภาระที่หนักเกินไป ดังนั้น จึงนำมาซึ่งการใช้แนวทางที่ว่าผู้ได้ประโยชน์ต้องเป็นฝ่ายลงทุนแล้วจึงค่อยรับส่วนแบ่ง แนวทางนี้ทำให้รัฐบาลจีนกู้เงินยืมจากธนาคารและระดมทุนจากภาคเอกชนเพื่อทำให้พวกบริษัทเอกชนในจีนได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน
อนึ่ง รัฐบาลจีนดำเนินการด้วยการนำภาคเอกชนด้าน E-commerce ที่มีหัวเรือหลักอย่าง Alibaba ให้เข้าถึงผู้ค้ารายย่อย โดยการส่งเสริมและอบรมเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรและผู้ผลิตในท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในโมเดลที่ Alibaba ใช้คือแผน “สปริง ธันเดอร์” (Poverty Relief Spring Thunder Initiative) หรือ “อัสนีวสันต์” เพื่อต่อสู้กับความยากจนในพื้นที่ชนบทของจีน ทั้งนี้ Alibaba เริ่มดำเนินการด้วยการก่อตั้งวิทยาลัยไลฟ์สตรีมมิงระดับหมู่บ้าน (Village Livestreaming Colleges) จำนวน 100 แห่ง เพื่อสร้างทีมเกษตรกรนักไลฟ์สตรีมมิง หรือ ไลฟ์สด จำนวน 100,000 คน พร้อมฐานการเกษตรดิจิทัลและ แบรนด์สินค้าการเกษตร 50 แบรนด์ รวมถึงสร้าง “หมู่บ้านพนักงานจัดส่ง” จำนวน 100 แห่ง เพื่อสร้างงานในอำเภอยากไร้มากกว่า 100,000 อัตรา นอกจากนั้น Alibaba ส่งเจ้าหน้าที่อาวุโสไปยังอำเภอยากไร้เพื่อช่วยประชาชนหลุดพ้นจากความยากจนด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม E-commerce และอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่น
โดยช่วงหลายปีที่ผ่านมาความสำเร็จของ Alibaba ที่มุ่งพัฒนาธุรกิจ E-commerce ในเขตชนบทจีน มียอดจำหน่ายสินค้าการเกษตรผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce สูงถึง 9.74 หมื่นล้านหยวน (ราว 4.4 แสนล้านบาท) ส่วนการถ่ายทอดสดระดับหมู่บ้าน (Village Broadcasting Plan) ในปี 2019 มีการไลฟ์สดมากกว่า 1.6 ล้านครั้ง ครอบคลุมภูมิภาคระดับอำเภอ 2,200 แห่งทั่วประเทศ
จากตัวอย่างความสำเร็จในการใช้แฟลตฟอร์ม E-commerce ขจัดความยากจนของจีน กอปรกับพฤติกรรมคนไทยที่มีสัดส่วนการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรม E-commerce ในไทยมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยช่วงปี 2558-2562 มีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 54 ยอดมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value: GMV) ของอุตสาหกรรม E-commerce ในไทยมีมูลค่าสูงถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องผลักดันให้อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอีก ร้อยละ 24 ภายในปี 2568 ยอดมูลค่าสินค้ารวมที่สูงถึง 18 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจาก E-commerce มีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันความเติบโตทางเศรษฐกิจ 3 ช่องทางหลัก ประกอบด้วย 1) การเพิ่มความสามารถการแข่งขันให้ SMEs 2) การเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้คนต่างจังหวัด 3) การเปิดช่องทางให้คนที่อยู่นอกตลาดแรงงาน เช่น นักเรียน แม่บ้าน ผู้สูงอายุ มีรายได้เสริม
ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนของไทยมีบทบาทสำคัญต่อการร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศน์แห่งเศรษฐกิจดิจิทัล ดังตัวอย่าง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้นำต้นแบบการขจัดความยากจนของจีนด้วย E-commerce มาดำเนินการภายใต้ โครงการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน (Thailand e-Commerce Sustainability) โดยนำโมเดลการพัฒนาดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาชุมชน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนสามารถขายสินค้าออนไลน์และสร้างกำลังคนให้มีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ โดยการนำต้นแบบการดำเนินการของ Alibaba มาปรับใช้ ดังนี้
1) การพัฒนาผลักดันให้คนในชนบท รับรู้ เข้าใจ เข้าถึงและสามารถใช้อินเทอร์เน็ตเป็น ด้วยการต่อยอดจากโครงการเน็ตประชารัฐ ที่ปัจจุบันได้กระจายการให้บริการอยู่ในทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ
2) การพัฒนาฝีมือแรงงานสร้างกำลังคนในชุมชน โดยการร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ อาทิ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) อบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป (Workshop) ให้ชุมชนเข้าใจเรื่องของการขายสินค้าและบริการทางออนไลน์อย่างครบวงจร และสามารถขายได้จริง พร้อมมีระบบการจัดการที่ดี ปัจจุบัน ได้พัฒนาชุมชนกลุ่มตัวอย่างกว่า 17 ชุมชน จาก 4 ภาค ทั่วประเทศ มีสินค้าชุมชนทั้งประเภทอุปโภค บริโภค และการบริการ จนแต่ละชุมชนสามารถทำการขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้
ด้วยความสำเร็จในก้าวเล็กๆ จากการพัฒนาชุมชนกลุ่มตัวอย่างโดยใช้กลไกการส่งเสริมตลาด E-commerce ด้วยการถอดแบบการขจัดความยากจนของจีน นับว่าเป็นแรงกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรม E-commerce และการดำเนินการไลฟ์สดขายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของไทย ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสต่อการมีงานทำ การเพิ่มรายได้ การปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น รวมถึงการไม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น
ที่มาข้อมูล:
https://www.smethailandclub.com/startups-6325-id.html
https://positioningmag.com/1282872
https://www.xinhuathai.com/china/105181_20200514
https://www.thereporter.asia/th/2019/11/14/sea-ecommerce/
ที่มารูปภาพ:
เรียบเรียงโดย สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัยศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง