องค์การสหประชาชาติยกการแก้ปัญหาความยากจนเป็นวาระสำคัญของโลก โดยมีการบรรจุเป็นเป้าหมายลำดับที่ 1 ใน 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งมุ่งขจัดความยากจนทุกรูปแบบภายในปี 2573
อนึ่งประเทศไทยได้ลงนามและมีคํามั่นร่วมกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 ซึ่งรัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นในการขจัดความยากจนด้วยการบรรจุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการขจัดความยากจนไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564)
สถานการณ์ความยากจนของประชากรไทยในปี 2560 ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนสากลมีจำนวน 20,000 คน คิดเป็นร้อยละ 0.03 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่ประชากรไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศมีจำนวน 5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 8 ของประชากรทั้งประเทศ ปัจจุบันเส้นความยากจนของไทยอยู่ที่ 5.5 เหรียญสหรัฐฯ/วัน คิดเป็น 75.7บาท/วัน หรือ 27,631บาท/ปี
เมื่อพิจารณามิติของจำนวนประชากรที่ยากจนของไทย พบว่า กว่าร้อยละ 50 ของประชากรที่ยากจนทั้งประเทศอยู่ในภาคเกษตรกรรมซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรที่ขยายตัวต่ำตามระดับราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มลดลงตามราคาตลาดโลกรวมถึงความผันผวนของสภาพภูมิอากาศ
จากปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ หน่วยงานภาครัฐของไทยพยายามเร่งหาแนวทางด้วยการจัดทำแผนขจัดความยากจน โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2564 จากภาครัฐเพื่อบูรณาการการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากจำนวน 8,900 ล้านบาท เพื่อจัดทำ “โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ขจัดความยากจนแบบตรงจุด” ซึ่งได้ดำเนินการศึกษารายละเอียดนโยบายและกลไกขจัดความยากจนแบบมุ่งเป้าของประเทศจีนในด้านต่างๆ เพื่อนำมาถอดแบบปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทของไทย อาทิ การให้เงินอุดหนุนแก่คนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน การส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญไปตรวจสอบและเก็บข้อมูล
หลังจากนั้น จึงกำหนดกลไกการขจัดความยากจนประกอบด้วย 1) การพัฒนาด้านการผลิตของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและการสร้างความเชื่อมโยงกับตลาด 2) การย้ายที่อยู่อาศัยไปที่เหมาะสม 3) การช่วยเหลือทางนิเวศ อาทิ ด้านพลังงานและการให้ค่าตอบแทนแก่คนจนที่เข้าทำงานในโครงการด้านวิศวกรรมนิเวศวิทยา 4) การพัฒนาการศึกษาด้วยการจัดสรรเงินอุดหนุน 5) การช่วยเหลือโดยใช้บัตรประกันสังคมเพื่อสร้างสวัสดิการพื้นฐาน
ทั้งนี้ ได้มีการดำเนินการเบื้องต้นด้วยการวางระบบบริหารจัดการการขจัดความยากจนแบบตรงเป้าหมายผ่านการตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนแห่งชาติและคณะกรรมการขจัดความยากจนระดับจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ภาคเอกชน ชุมชน และสถาบันอุดมศึกษาในการรวบรวมข้อมูลเชิงพื้นที่ การเลือกกลุ่มประชากร การจัดทีมขับเคลื่อน ประกอบด้วย อาจารย์ นักศึกษา เจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้าไปศึกษาปัญหา ติดตามและประเมินผล
โดยเป้าหมายในระยะแรก คือ กลุ่มเกษตรกรยากจนยากจนเรื้อรังใน 7 จังหวัด (ปี 2559) คือ แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬสินธุ์ นครพนม ตาก และบุรีรัมย์ โดยใช้กลไกให้เจ้าหน้าที่รัฐ และ ธกส. ในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ทำหน้าที่ระบุปัญหา กำหนดเป้าหมาย ทิศทางการแก้ปัญหา ออกแบบและขับเคลื่อนโครงการ ด้วยการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ทั้งอาจารย์และนักศึกษา
ภายหลังการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายทั้ง 7 จังหวัดข้างต้นแล้ว ขั้นต่อไปจะมีการจัดทำร่าง Roadmap ขจัดความยากจนของประเทศไทยในภาพรวมสามารถสรุปเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. การวางนโยบายระดับประเทศ ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนระดับชาติและระดับจังหวัด
2. การเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ โดยการเก็บข้อมูลสำมะโนครัวเรือนยากจนด้วยการสำรวจข้อมูลพื้นฐานผ่านทางบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูล การพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) และการส่งนักศึกษาและอาจารย์ลงพื้นที่
3. การลงพื้นที่ระบุปัญหา โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่จาก ธกส. จำนวน 1,000 คน ติดตามครัวเรือนเป็นระยะเวลา 1-3 ปี เพื่อศึกษาปัญหาพัฒนาโครงการการของบประมาณและสร้างกลไก รวมถึงการส่งนักศึกษาลงแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยบรรจุเป็นวิชาเลือกที่สามารถนับหน่วยกิตได้
4. การขับเคลื่อนโครงการ โดยการสร้างกลไกให้ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่ เช่น การเปิดรับเสนอโครงการ การออกแบบกลไกเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม
5. การติดตามประเมินผล โดยใช้กลไกคณะกรรมการระดับจังหวัดรายงานรายได้และสัดส่วนคนยากจนในพื้นที่ต่อคณะกรรมการระดับชาติผ่านรายงานประจำปี (The Poverty Monitoring Report)
อย่างไรก็ตาม การที่ไทยได้ถอดบทเรียนการขจัดความยากจนของจีนเพื่อจัดทำโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและขจัดความยากจนแบบตรงจุดของไทยนั้น จะประสบความสำเร็จย่อมต้องอาศัยการทำงานอย่างบูรณาการและเชื่อมโยงกับส่วนกลางเพื่อเกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย