นอกจากจีนได้ผลักดัน “เส้นทางสายไหมสุขภาพ (Health Silk Road)” ภายใต้ข้อริเริ่ม BRI ตามที่ได้กล่าวไว้ในสองตอนแรกแล้ว เนื้อหาในตอนที่ 3 จะกล่าวถึงความพยายามของจีนที่ได้ต่อยอดความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับนานาชาติไปสู่การสร้างประชาคมโลกที่เกื้อกูลและแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
# Health Silk Road: สร้างประชาคมโลกที่มีชะตากรรมร่วมกัน
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ครั้งที่ 73 เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 63 โดยย้ำว่า จีนยืนหยัดในแนวคิดการสร้างประชาคมโลกที่มีชะตากรรมร่วมกัน (人类命运共同体/ Community of shared future for mankind) โดยจะรับผิดชอบต่อสุขภาพพลามัยและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนในประเทศ เช่นเดียวกับภารกิจการรับผิดชอบต่อสาธารณสุขของโลก
ดังนั้น เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 จีนมีมาตรการ 5 ข้อ ดังนี้
- จีนจะให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในสองปี เพื่อสนับสนุนประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในการต่อสู้กับโรคระบาดและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคม
- จีนจะร่วมมือกับสหประชาชาติในการจัดตั้ง Hub และคลังความช่วยเหลือฉุกเฉินด้านมนุษยธรรมสากลในประเทศจีน พร้อมทั้งจะสร้างหลักประกันด้านห่วงโซ่อุปทานของอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างช่องทางสีเขียวเพื่อการขนส่งและพิธีการศุลกากร
- จีนจะสร้างกลไกความร่วมมือโรงพยาบาลพันธมิตรจีน-แอฟริกา 30 แห่ง พร้อมเร่งก่อสร้างสำนักงานใหญ่ของศูนย์ควบคุมโรคระบาดในแอฟริกา เพื่อช่วยยกระดับความสามารถในการป้องกันและควบคุมโรคของแอฟริกา
- หลังจากการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของจีนเสร็จสิ้นและใช้งานจริงแล้ว วัคซีนดังกล่าวจะเป็นสินค้าสาธารณะทั่วโลก (全球公共产品) เพื่ออุทิศความช่วยเหลือของจีนแก่ประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถเข้าถึงและมีกำลังซื้อวัคซีนได้
- จีนจะทำงานร่วมกับประเทศกลุ่ม G20 เพื่อริเริ่ม “โครงการพักชำระหนี้สำหรับประเทศยากจน” และยินดีที่จะทำงานร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มการช่วยเหลือในการบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับประเทศที่มีสถานการณ์ระบาดรุนแรงและมีความกดดันสูง
กล่าวได้ว่าแนวคิด “เส้นทางสายไหมสุขภาพ” ของจีนนั้น ต้องการอาศัยความร่วมมือด้านสาธารณสุข การรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรค เป็นสะพานเชื่อมมิตรไมตรีกับประเทศตามแนวเส้นทาง BRI เป็นการแสดงบทบาทในฐานะ “ผู้ให้ความช่วยเหลือ” ของจีน นำเสนอการจัดการด้านสาธารณสุขด้วย “China Model” และสร้างภาพลักษณ์ของรัฐบาลจีนในฐานะประเทศใหญ่ที่รับผิดชอบต่อโลก
โดยเฉพาะภายหลังโรคโควิด-19 ได้แพร่ระบาดอย่างรุนแรงไปทั่วโลก จากประเทศที่เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาด รัฐบาลจีนใช้มาตรการที่ครอบคลุมที่สุด เข้มงวดที่สุด และตรงจุดที่สุด สกัดกั้นการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนจีนสามารถพลิกบทบาทกลายเป็นประเทศที่ส่งออกความช่วยเหลือ แสดงบทบาทชาติที่พร้อมให้ความร่วมมือและรับผิดชอบต่อวิกฤติของโลก อาศัย “การทูตโควิด-19” ผูกมิตรกับประเทศต่างๆ พร้อมทั้งแบ่งปันประสบการณ์ในการรับมือและรักษาโควิด-19 ตลอดจนประกาศให้วัคซีนที่จะผลิตได้ในอนาคตเป็นสินค้าสาธารณะที่ประเทศต่างๆ เข้าถึงได้
นับได้ว่าจีนอาศัยจังหวะวิกฤติโควิด-19 เป็นเวทีในการแสดงบทบาทผู้นำโลกด้านสาธารณสุขอย่างเต็มที่ ฉกฉวยโอกาสที่สหรัฐอเมริกากำลังเพลี้ยงพล้ำเสียท่าในวิกฤติครั้งนี้ และเพื่อลบล้างภาพลักษณ์ “ไวรัสจีน” ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์พยายามใส่ร้ายป้ายสีจีน
“เส้นทางสายไหมสุขภาพ” และความพยายามทั้งหมดนี้ จึงถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการผลักดัน BRI มีส่วนช่วยค้ำยันความสำคัญและการดำรงอยู่ของ BRI รวมทั้งช่วยสานฝันการสร้างสรรค์ประชาคมโลกที่มีชะตากรรมร่วมกันของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงด้วย
บทความโดย อรสา รัตนอมรภิรมย์ ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา
โพสต์ที่เกี่ยวข้อง:
“การทูตโควิด-19” บน “เส้นทางสายไหมสุขภาพ” (ตอนที่ 1)
https://cascenter.pim.ac.th/wp/archives/5909
“การทูตโควิด-19” บน “เส้นทางสายไหมสุขภาพ” (ตอนที่ 2)