แนวคิด “เส้นทางสายไหมสุขภาพ หรือ Health Silk Road (HSR)” ถูกระบุครั้งแรกเมื่อปี 2558 ใน “ประกาศคณะกรรมการวางแผนครอบครัวและสาธารณสุขแห่งชาติจีน ว่าด้วยการผลักดันแผนดำเนินงานระยะ 3 ปีในความร่วมมือแลกเปลี่ยนด้านสาธารณสุข” ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2560 รัฐบาลจีนกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือด้านสาธารณสุขภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งตั้งเป้าที่จะร่วมกันยกระดับมาตรฐานด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประเทศตามแนวเส้นทาง BRI
“เส้นทางสายไหมสุขภาพ” อาศัยความร่วมมือทวิภาคีเป็นพื้นฐาน มุ่งส่งเสริมการสร้างยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านสาธารณสุขให้แก่ประเทศตามแนวเส้นทางและตามระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 ภายใต้ BRI[1] โดยมีกลไกการทำงานที่นำโดยรัฐบาล บูรณาการการทำงานทั้งระดับบนและระดับล่าง พร้อมทั้งสนับสนุนการมีส่วนรวมจากหลายภาคส่วน
ระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ประเทศจีนได้จัดส่งเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลสะสมรวมกว่า 25,000 คน/ครั้งไปยังประเทศตามแนวเส้นทาง BRI มาอย่างต่อเนื่อง ได้ช่วยรักษาผู้ป่วยถึง 280 ล้านคน/ครั้ง พร้อมทั้งช่วยผลักดันการพัฒนาด้านสาธารณสุขให้กับประเทศเหล่านั้น ปัจจุบัน จีนได้จัดส่งเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลออกไปให้ความช่วยเหลือประจำยัง 56 ประเทศ อาศัยทักษะความเชี่ยวชาญให้การรักษาอย่างเต็มที่ จนได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวาง
# แสดงบทบาทประเทศใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ
เมื่อปี 2557 หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก รัฐบาลจีนได้จัดทีมแพทย์พยาบาลชุดใหญ่ที่สุดออกไปปฏิบัติภารกิจให้ความช่วยเหลือ “จีนได้บริจาคสิ่งของที่จำเป็น พร้อมทั้งจัดทัพเจ้าหน้าที่ด้านรักษาพยาบาลและสาธารณสุขจำนวนหลายคณะ เพื่อไปช่วยสกัดกั้นการแพร่ระบาดโรคอีโบลาในประเทศต่างๆ” นายเฝิง จื่อเจี้ยน รองผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติจีนกล่าว
เมื่อปี 2558 ภายหลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศเนปาล รัฐบาลจีนได้จัดตั้งทีมปฏิบัติการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วทันที ภายในเวลาเพียง 12 ชั่วโมงได้จัดตั้งทีมรักษาพยาบาลและทีมควบคุมโรคขึ้นมา และส่งตรงไปถึงพื้นที่ที่เกิดเหตุภายในเวลา 48 ชั่วโมง
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 คณะแพทย์เพื่อช่วยเหลือยามฉุกเฉินแห่งชาติจีน (เซี่ยงไฮ้) ได้รับการรับรองจาก WHO ให้เป็นหนึ่งในทีมแพทย์ฉุกเฉินนานาชาติชุดแรกของโลก ทั้งนี้ จีนได้จัดตั้งทีมช่วยเหลือภัยพิบัติยามฉุกเฉินนานาชาติที่พร้อมให้บริการอย่างครอบคลุมแบบ 24 ชั่วโมง เตรียมพร้อมรับคำสั่งจากรัฐบาลจีนและมุ่งไปให้ความช่วยเหลือยังพื้นที่ภัยพิบัติทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของรัฐบาลจีนในการแสดงบทบาทประเทศใหญ่ที่รับผิดชอบต่อโลก
หลายปีมานี้ จีนกับประเทศตามแนวเส้นทาง BRI มีการแลกเปลี่ยนและร่วมมือด้านสาธารณสุขอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยมีโครงการความร่วมมือขนาดใหญ่ 41 โครงการ อาทิ ความร่วมมือด้านป้องกันและควบคุมโรคระบาดกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ความร่วมมือด้านป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) กับประเทศในเอเชียกลาง พัฒนาความร่วมมือด้านสาธารณสุขฉุกเฉินกับประเทศและองค์กรต่างๆ ได้แก่ WHO อาเซียน รัสเซีย และอิสราเอล ฯลฯ ร่วมกับประเทศตามแนวเส้นทาง BRI อบรมบ่มเพาะบุคลากรด้านป้องกันและควบคุมโรคและการจัดการสาธารณสุขสะสมกว่า 1,200 ราย ให้บริการผ่าตัดต่อกระจกฟรีแก่ผู้ป่วยกว่า 5,200 ราย พัฒนาการให้บริการรักษาพยาบาลข้ามพรมแดน ขยายความร่วมมือด้านการแพทย์แผนโบราณกับประเทศอาเซียน ยุโรปกลาง และยุโรปตะวันออก ฯลฯ ซึ่งได้ก่อเกิดผลงานและความก้าวหน้าใหม่ๆ[2]
บรรยายภาพ : ชาวโมซัมบิก (ซ้าย) ผู้เข้าร่วมโครงการผ่าตัดต้อกระจกฟรี, นพ. จูซือเฉวียน (ขวา) แพทย์แห่งโรงพยาบาล Beijing Tongren Hospital ซึ่งได้รับฉายาจากชาวแอฟริกาว่า “หมอเทวดา”
ที่มาภาพ https://chiculture.org.hk/sc/china-today/3056
[1] ระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 ภายใต้ BRI ประกอบด้วย (1) the New Eurasian Land Bridge Economic Corridor; (2) the China-Central Asia-West Asia Economic Corridor; (3) the China-Pakistan Economic Corridor; (4) the Bangladesh-China-India-Myanmar Economic Corridor; (5) the China-Mongolia-Russia Economic Corridor; (6) the China-Indochina Peninsula Economic Corridor.
[2] “健康丝绸之路”造福民生 (2017), accessed on 2 November 2020 form http://www.cidca.gov.cn/2017-08/16/c_129972358.htm