จีนผลักดันความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับประเทศตามแนวเส้นทาง BRI ด้วยแนวคิด “เส้นทางสายไหมสุขภาพ” มาตั้งแต่ปี 2558 กระทั่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อุบัติขึ้นทั่วโลกในปี 2563 จีนจึงได้ใช้กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีอยู่ แสดงบทบาทการให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ที่เดือดร้อนจากโควิด-19
# ส่งออกความช่วยเหลือผ่าน “การทูตโควิด-19”
จากรายงานสมุดปกขาวเรื่อง “ปฏิบัติการของจีนเพื่อต่อสู้กับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19” ที่ประกาศโดยสำนักงานสารนิเทศแห่งสำนักนายกรัฐมนตรีจีนเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2563 ระบุว่า จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ประเทศจีนได้จัดส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ไปยัง 27 ประเทศ รวมทั้งได้ให้ความช่วยเหลือในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19 แก่ 150 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ 4 แห่ง
รัฐบาลจีนยังสั่งการให้ทีมแพทย์ที่ส่งไปประจำให้ความช่วยเหลือยัง 56 ประเทศสนับสนุนการทำงานด้านการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ในประเทศที่ประจำอยู่ เพื่อให้คำแนะนำและความรู้แก่ประชาชนและชาวจีนที่อยู่ในประเทศนั้นๆ โดยมีการจัดอบรมผ่านระบบออนไลน์กว่า 400 ครั้ง
นอกจากนี้ จีนยังบริจาคเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่ WHO ให้ความสนับสนุน WHO ในการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันโรคส่วนบุคคลและสร้างคลังพัสดุ
จากสถิติของสำนักนายกรัฐมนตรีจีน ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2563 รัฐบาลจีนได้ส่งออกอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19 แก่ 200 ประเทศทั่วโลก ประกอบด้วย หน้ากากอนามัย 70,600 ล้านชิ้น ชุดป้องกันโรค (PPE) 340 ล้านชุด แว่นตาป้องกันโรค 115 ล้านชิ้น เครื่องช่วยหายใจ 96,700 เครื่อง ชุดทดสอบโควิด-19 จำนวน 225 ล้านชุด เครื่องวัดอุณหภูมิ 40.29 ล้านเครื่อง
ขณะเดียวกัน จีนยังได้แบ่งปันองค์ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ในการรักษาโรคโควิด-19 ให้แก่ประชาคมโลก โดยจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 จีนได้เผยแพร่บทความในวารสารต่างๆ 104 แห่ง รวม 970 บทความ ขณะที่ มีผู้ใช้บริการ 370,000 คนได้ดาวน์โหลดข้อมูลกว่า 48 ล้านครั้งจากระบบฐานข้อมูลโควิด-19 ออนไลน์ 3 แพลตฟอร์มที่ก่อตั้งโดยบัณฑิตยสภาด้านวิทยาศาสตร์ของจีน (CAS)
นอกจากนั้น จีนยังได้ร่วมมือในการทดลองวัคซีนระยะที่ 3 กับหลายประเทศ อาทิ บราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี ฯลฯ ซึ่งจีนยังยินดีแบ่งปันเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 ด้วย
อย่างกรณีความร่วมมือระหว่างบริษัท Sinovac วิสาหกิจผลิตเวชภัณฑ์รายใหญ่ของจีน กับสถาบันบูตันตัน (Butantan Institute) สถาบันวิจัยและพัฒนาวัคซีนรายใหญ่ของบราซิล ซึ่งดำเนินการทดลองวัคซีนโควิด-19 ระยะที่ 3 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งถ้าหากสำเร็จ บริษัท Sinovac จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนให้กับสถาบันบูตันตัน เพื่อผลิตวัคซีน CoronaVac ขึ้นใช้เองภายในบราซิล โดยตั้งเป้าว่าบราซิลจะสามารถผลิตวัคซีนได้เอง 60 ล้านโดส ภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
ความพยายามของจีนในการส่งออกความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การแก้เกมจากประเทศจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาด พลิกบทบาทมาเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นการแพร่ระบาด รวมทั้งมีประสบการณ์การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นองค์ความรู้ที่จีนพร้อมแบ่งปันให้เป็นประโยชน์แก่ประชาคมโลก อีกทั้งกลายเป็นปัจจัยที่จีนนำไปผูกมิตรและเสริมภาพลักษณ์ของตนเองในเวทีโลก จนกล่าวได้ว่าจีนกำลังดำเนินยุทธวิธีแบบ “การทูตโควิด-19”
บทความโดย อรสา รัตนอมรภิรมย์ ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา
โพสต์ที่เกี่ยวข้อง:
“การทูตโควิด-19” บน “เส้นทางสายไหมสุขภาพ” (ตอนที่ 1)