มะพร้าวน้ำหอม อนาคตสดใสในตลาดจีน
ปัจจุบันมะพร้าวน้ำหอมขายได้ราคาดีขึ้นเรื่อย เนื่องจากฤดูกาลที่แห้งแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลง ขณะเดียวกันความนิยมบริโภคน้ำมะพร้าวก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะในตลาดจีน
จากสถิติของกรมศุลกากรพบว่า ในบรรดาผลไม้ 14 รายการที่ส่งออกไปจีนในปี 2563 ผลไม้ที่มีปริมาณการส่งออกขยายตัวมากที่สุดคือ มะพร้าวอ่อน (HS 08011910) โดยมีปริมาณส่งออก 122,751 ตัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 มีมูลค่า 2,555 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากปีก่อนหน้า
ขณะเดียวกัน ไทยส่งออกมะพร้าวอ่อนไปจีนคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของปริมาณการส่งออกมะพร้าวอ่อนไปทั่วโลก
“มะพร้าวน้ำหอมปลูกเท่าไรก็ไม่พอ มีเท่าไรก็ขายหมด” อาจารย์เปรม ณ สงขลา ผู้ก่อตั้งวารสารเคหการเกษตร และเจ้าของสวนมะพร้าวต้นแบบ Smart Farming กล่าวชัดถึงโอกาสอันสดใสของตลาดส่งออกมะพร้าวน้ำหอมของไทย
# พลิกนาข้าวให้เป็นสวนมะพร้าว
ภายในสวนเคหการเกษตรซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมดกว่า 80 ไร่นั้น เดิมทีเคยทำนาปลูกข้าวเช่นเดียวกับเกษตรกรในพื้นที่บริเวณนั้น แต่หลังจากปลูกไปได้ 3 ปี ก็พบว่าการปลูกข้าวได้ผลผลิตไม่คุ้มค่า อีกทั้งระบบการจัดการห่วงโซ่ข้าวของไทยไม่มีอนาคต จึงตัดสินใจพลิกนาข้าวให้กลายเป็นสวนผสมผสาน และเริ่มทำสวนมะพร้าวน้ำหอมตั้งแต่เมื่อปี 2553
ต่อมาสวนมะพร้าวน้ำหอมแห่งนี้ได้กลายเป็นแปลงทดลองงานวิจัยของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย 3 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อพัฒนาสู่ Smart Farming ต้นแบบการใช้อุปกรณ์เครื่องวัดค่าความชื้นในดินในระดับความลึก 30-60 เซ็นติเมตร เพื่อจัดทำระบบควบคุมการรดน้ำในสวนทั้งหมด
จากเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้สวนแห่งนี้สามารถควบคุมการเพาะปลูกมะพร้าวได้อย่างเหมาะสมกับสภาพดินและสภาพอากาศได้ตลอดปี สามารถควบคุมผลผลิตให้เหมาะสมตามฤดูกาล อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนค่าจ้างแรงงาน โดยปัจจุบันอาศัยแรงงานคนดูแลสวนแค่ 2-3 คน และใช้แรงงานรับจ้างรายวันในการเก็บเกี่ยวผลผลิต
ทั้งนี้ เรื่องวัดค่าความชื้นมีต้นทุนราว 70,000 บาท และมีค่าติดตั้งระบบรดน้ำอีกราว 10,000 บาทต่อไร่ ด้วยต้นทุนที่ไม่น้อยนี้ อาจารย์เปรมเสนอว่า ภาครัฐควรจะสนับสนุนให้แก่ชาวสวนในลักษณะ 1 ชุนชน 1 เครื่อง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำการเกษตรที่แม่นยำ โดยสามารถอาศัยซิมมือถือเป็นตัวเซ็นเซอร์และกระจายสัญญาณเพื่อให้ครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่
นอกจากนั้น สวนแห่งนี้ใช้ระบบสูบน้ำด้วยแผงโซล่าเซลล์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดค่าไฟฟ้า มีการตรวจวัดปริมาณแร่ธาตุในดิน และปรับปรุงสภาพดินให้สามารถปลูกมะพร้าวน้ำหอมให้ได้ผลดี
สวนแห่งนี้ยังเน้นการใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด เช่น ปลูกต้นกระถิ่นเทพาโดยรอบเพื่อลดแมลงศัตรูพืชแทนการใช้ยาฆ่าแมลง
# หวังตั้งกลุ่มส่งออกมะพร้าวน้ำหอม 1,000 ไร่
ปัจจุบันสวนมะพร้าวน้ำหอมของอาจารย์เปรมมีต้นมะพร้าวราว 2,000 ต้น ประกอบด้วยสองสายพันธุ์ คือพันธุ์ก้นจีบ (พันธุ์บ้านแพ้ว) และ พันธุ์ก้นกลม (พันธุ์สามพราม) ซึ่งพันธุ์ก้นกลมจะกะลาใหญ่กว่าให้น้ำมะพร้าวเยอะกว่า
มะพร้าวน้ำหอมเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 3 จนถึง 20 ปี ไร่หนึ่งปลูกได้ประมาณ 40 ต้น แต่ละต้นให้ผลผลิตได้ 16-18 ทะลาย สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุกๆ 20 วัน เฉลี่ยแล้วให้ผลผลิตได้ต้นละ 100 ลูก
ราคาส่งไปขายยังตลาด อ.ต.ก. จัตุจักร อยู่ที่ลูกละ 20-25 บาท แต่ถ้าราคาขายส่งให้แก่ล้งที่มารับซื้อหน้าสวนจะอยู่ที่ลูกละ 16 บาท
ผลผลิตส่วนใหญ่ของสวนแห่งนี้ร้อยละ 70 ขายให้แก่ล้งจาก อ.ดำเนินสะดวก โดยจะรับซื้อเพื่อนำไปขายต่อทั้งภายในและส่งออกต่างประเทศ ขณะเดียวกัน แต่ละเดือนจะขายให้แก่สมาชิกที่มาซื้อประจำราว 1,000 ลูก และส่งขายไปยังตลาด อ.ต.ก. 600 ลูก
ในอนาคต อาจารย์เปรมตั้งใจจะชวนชาวสวนในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงให้หันมาเพาะปลูกมะพร้าวน้ำหอมเพิ่มมากขึ้น เป้าหมายคือต้องรวมตัวกันให้ได้ถึง 1,000 ไร่ จึงจะสามารถกลายเป็นกลุ่มผู้ส่งออกที่มีศักยภาพเข้มแข็งทั้งเชิงการผลิตและการตลาด และมีอำนาจต่อรองกับล้งจีนได้
# ข้อเสนอแนะส่งออกมะพร้าวน้ำหอมไปตลาดจีน
นอกจากต้องรักษาคุณภาพของมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้แล้ว ยังต้องรู้จักบริหารจัดการผลผลิตให้ออกในฤดูร้อนด้วย เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนจะนิยมบริโภคลดลงในช่วงฤดูหนาว ดังนั้น ในช่วงฤดูหนาว ทางสวนของอาจารย์เปรมจะใช้วิธีตัดทะลายทิ้ง ซึ่งวิธีนี้ยังช่วยให้ผลมะพร้าวที่ออกในฤดูร้อนได้รสชาติที่ดียิ่งขึ้นด้วย ที่สำคัญราคามะพร้าวน้ำหอมในฤดูร้อนจะขายได้ราคาดีกว่าในฤดูหนาวถึง 3 เท่า
สำหรับคู่แข่งหลักในตลาดจีน คือ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ แต่มะพร้าวน้ำหอมของไทยยังได้รับความนิยมอันดับหนึ่ง เพราะมะพร้าวของไทยเป็นสายพันธุ์ที่มีคุณภาพดี เนื้อขาวหนา น้ำหวานหอมมากกว่าคู่แข่ง เหมาะสำหรับรับประทานสด ขณะที่สายพันธุ์มะพร้าวของเวียดนาม อินโดนีเซีย และของท้องถิ่นจีนเหมาะกับการนำไปแปรรูปมากกว่าการดื่มสด
ทั้งนี้ หากต้องการผลิตมะพร้าวน้ำหอมให้สอดคล้องการความต้องการของตลาด (Demand Driven) ห่วงโซ่อุปทานฝ่ายไทยต้องเข้มแข็งและไม่ตกไปอยู่ในมือของฝ่ายจีนทั้งหมด ควบคู่กับการมีระบบบริหารจัดการสวนที่ดี รวมทั้งควรหาพันธมิตรกับฝ่ายจีนทั้งในมิติการตลาดและเทคโนโลยีการเพาะปลูก-จัดการสวนที่ทันสมัย
ภาพประกอบ : ผลิตภัณฑ์มะพร้าวพร้อมทานที่ส่งไปขายตลาดจีนยี่ห้อ Coco Thumb
ที่มาข้อมูล:
- การศึกษาดูงานสวนเคหการเกษตรและสัมภาษณ์อาจารย์เปรม ณ สงขลา เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564
- https://www.kasetkaoklai.com/home/เคหการเกษตรเปิดสวน/
- https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_452
- https://www.wu.ac.th/th/news/17424
- https://thaibizchina.com/coconut-sgh20/
บทความโดย อรสา รัตนอมรภิรมย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา
โพสต์ที่เกี่ยวข้อง:CASPIM ศึกษาดูงานต้นแบบสวนมะพร้าว Smart Farming