ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน (Community with a Shared Future) ระหว่างไทย–จีน ถูกเน้นย้ำในแถลงการณ์ร่วมระหว่างสองประเทศ จากการเยือนไทยครั้งแรกของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 นอกจากนี้ ยังถูกกล่าวถึงในการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาโดยนักวิชาการทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน ในประเด็นความหมายและความสําคัญของประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันว่าคืออะไร ดังนั้น ศ.ดร.ทัง จือมิน ผู้อํานวยการศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (CASPIM) ได้แบ่งปันความคิดเห็นในมุมมองดังนี้
ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันได้รับการหยิบยกขึ้นเป็นครั้งแรกโดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จากคำปราศรัยที่สถาบันการต่างประเทศชั้นสูงที่ขึ้นตรงต่อกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย (ณ กรุงมอสโก) ในเดือนมีนาคม 2556 ว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีการเชื่อมโยงและพึ่งพาอาศัยกันในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน มนุษยชาติอาศัยอยู่ในหมู่บ้านโลกเดียวกันจนได้กลายมาเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันมากขึ้น ซึ่งทุกคนต่างมีบทบาทเล็ก ๆ น้อย ๆ ของตัวเอง
โดยวิสัยทัศน์ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสามารถสรุปได้ดังนี้ “การเปิดกว้าง ครอบคลุม ยุติธรรม สงบสุข มั่นคง ปลอดภัย และเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” โดยมีวาระรองรับใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) การเมืองระหว่างประเทศ (international politics) 2) ความมั่นคงของโลก (global security) 3) โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ (economic globalization) 4) การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (environmental protection) และ 5) การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม (cultural exchange)
ในทางการเมืองระหว่างประเทศ (international politics) เป็นการเคารพซึ่งกันและกัน การหารือเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม ปฏิเสธความคิดแบบสงครามเย็นและการเมืองแบบอำนาจนิยม การสื่อสารแทนการเผชิญหน้า และการเป็นหุ้นส่วนแทนกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กัน ด้านความมั่นคงของโลก (global security) ในการยุติข้อพิพาท การแก้ไขความแตกต่างผ่านการเจรจา การประสาน การตอบสนองต่อภัยคุกคามแบบดั้งเดิมและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ และต่อต้านการก่อการร้ายในทุกรูปแบบ
ยุคโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ (economic globalization) โดยการเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกทางการค้า และการลงทุนที่เปิดกว้าง ครอบคลุม และสมดุล การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (environmental protection) การให้ความร่วมมือเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม (cultural exchange) เป็นการเคารพความหลากหลายของวัฒนธรรม เพื่อแทนที่ความไม่ไว้วางใจด้วยการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคทางวัฒนธรรม การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวัฒนธรรมเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งทางวัฒนธรรม และการอยู่ร่วมกันทางวัฒนธรรมเพื่อก้าวข้ามความเหนือกว่าทางวัฒนธรรม
ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันจึงเป็นโลกทัศน์ของจีนที่มีความหมายว่า ความปรารถนาที่จะไม่เป็นเพียงแค่ผู้มีส่วนร่วมและผู้รับผลประโยชน์เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้สนับสนุนและผู้ออกแบบโลกสมัยใหม่ภายใต้โลกาภิวัตน์ที่เป็นวาทกรรมแห่งความปรองดองและปฏิเสธการแบ่งแยกความเป็นมนุษย์ตามอุดมการณ์และระบอบการเมือง
อย่างไรก็ตาม ยังมีการหนทางอีกยาวไกลเพื่อให้โลกทัศน์นี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากประชาคมระหว่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตก ทั้งนี้ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาคณะกรรมการสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติรวมแนวคิดเรื่องประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไว้ 3 ข้อ ด้วยการลงคะแนนสนับสนุนโดยสมาชิกมากกว่า 100 คน ซึ่งนับเป็นครั้งที่หกติดต่อกันที่มีแนวคิดนี้รวมอยู่ในมติของคณะกรรมการชุดแรก
วิสัยทัศน์อนาคตร่วมกันควรได้รับการสนับสนุนในเชิงปฏิบัติ เนื่องจากการเยือนของประธานาธิบดี สี นำมาซึ่งความตกลงใหม่ 5 ข้อ ดังนี้ 1) แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ปี 2565-2569 2) แผนความร่วมมือไทย-จีน เพื่อร่วมส่งเสริมแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษในที่ 21 3) ความร่วมมือด้านอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยและจีน 4) ความร่วมมือด้านวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย (อว.) กับสภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) และ 5) ความร่วมมือในการจัดตั้งคณะทำงานด้านการลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยและกระทรวงพาณิชย์ของจีน
เรียบเรียงโดย: ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
แหล่งที่มา: http://english.scio.gov.cn/featured/chinakeywords/2020-01/22/content_75639574.htm
รูปภาพ: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ