ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม ถึง 23 กันยายน 2565 ประเทศไทยได้ร่วมมือกับหน่วยงานด้านการเงินของจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในโครงการนําร่องเพื่อใช้ “สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC)” สําหรับการค้าข้ามแดน “โครงการ m-Bridge” ซึ่งพัฒนาโดยธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของจีนเรียกอีกอย่างว่า ดิจิทัลหยวน (e-CNY) ซึ่งบทความนี้ได้แสดงถึงสถานการณ์ปัจจุบันของดิจิทัลหยวนว่าเป็นอย่างไร และความหมายสำหรับการทำให้เงินหยวนของจีนเป็นสกุลสากลคืออะไร
ธนาคารกลางของจีน (PBOC) นําหน้าคู่แข่งทั่วโลกด้วยการเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้การทำธุรกรรมโดยใช้ดิจิทัลหยวน ณ วันที่ 31 สิงหาคม ปี 2565 ทะลุ 100 พันล้านหยวน โดยมีการทำธุรกรรม 360 ล้านรายการ มีผู้ค้า 5.6 ล้านราย และการเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลหยวนส่วนบุคคลมากกว่า 260 ล้านใบใน 23 เมืองนําร่องที่รวมถึงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น
ฐานะที่เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เป็นผลให้ดิจิทัลหยวนไม่ใช่สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เหมือนบิตคอยน์ (bitcoin) แต่ถูกควบคุมและออกโดยธนาคารกลางของจีน และไม่ได้สร้างขึ้นบนเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) ข้อดี 1) ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (Legal Tender) มีมูลค่าคงที่ (stable value) เนื่องจากมีภาครัฐเป็นผู้บริหารจัดการ 2) ข้อมูลผู้ทำธุรกรรมจะไม่ถูกละเมิดซึ่งอาจเกิดขึ้นจากระบบการชำระเงินของบุคคลที่สาม ดังเช่น WeChat Pay และ Alipay อย่างไรก็ตามมีข้อเสียด้านการจัดการที่ไม่มีการเปิดเผยตัวตน ภายใต้หลักการ “ไม่เปิดเผยตัวตนสําหรับธุรกรรมที่มีมูลค่าน้อย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้สําหรับธุรกรรมที่มีมูลค่าสูง”
ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้อาจได้รับกระเป๋าเงินดิจิทัลหยวนแบบไม่เปิดเผยตัวตน โดยมีข้อจํากัดในการชําระเงิน 2,000 หยวนต่อธุรกรรม 5,000 หยวนต่อวัน และยอดคงเหลือน้อยกว่า 10,000 หยวน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มเติม เช่น บัตรประจําตัวประชาชนและบัญชีธนาคารเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับกระเป๋าเงินที่อัปเกรดแล้ว ด้วย การเพิ่มวงเงินในการชําระเงิน 50,000 หยวนต่อรายการ 100,000 หยวนต่อวัน และยอดคงเหลือน้อยกว่า 500,000 หยวน
ดูเหมือนว่าดิจิทัลหยวนจะเป็นมิตรกับผู้ใช้มากกว่า เนื่องจากแอปพลิเคชันดิจิทัลหยวนนี้ใช้เทคโนโลยีสื่อสารแบบไร้สายระยะใกล้ (NFC) ที่เงินสดสามารถออกจากกระเป๋าเงินดิจิทัลบนอุปกรณ์มือถือแม้จะไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ กระบวนการทางดิจิทัลที่กำหนดขั้นตอนการทำธุรกรรมโดยอัตโนมัติไว้ล่วงหน้า (Smart Contract) อาจถูกนําไปใช้ในรูปแบบการชำระเงินแบบมีเงื่อนไข
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในไทยสองสามแห่งเพื่อทดสอบสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของไทย ซึ่งธุรกรรมการค้าข้ามแดนในโครงการ m-Bridge ดังกล่าวมีมูลค่ารวมกว่า 22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อีกทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะร่นระยะเวลาการโอนเงินการค้าข้ามแดนจาก 3-5 วัน เหลือเพียงไม่กี่วินาที อีกทั้งเทคโนโลยีนี้จะช่วยลดต้นทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพของธุรกิจ ลดความเสี่ยงในการชำระหนี้ และยังสนับสนุนการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการชำระเงินระหว่างประเทศ
ดิจิทัลหยวนจะช่วยส่งเสริมกระบวนการความเป็นสากลของสกุลเงินหยวน (RMB) ด้วยการเพิ่มส่วนแบ่งของเงินหยวนในฐานะการเป็นสกุลเงินที่สามารถชําระเงินได้ทั่วโลก (เดือนกันยายน 2565 คิดเป็นร้อยละ 2.44 เทียบกับ ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 42.3 และ ยูโร คิดเป็นร้อยละ 35.2) และส่งเสริมสกุลเงินหยวนในระบบการชำระเงินระหว่างธนาคารข้ามแดน (cross-border interbank payment system: CIPS) โดยไม่ขึ้นกับสมาคมเพื่อการโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก (SWIFT) ที่เป็นเครือข่ายการเงินระดับโลก
เรียบเรียงโดย: ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
แหล่งที่มา:
https://china-cee.eu/2022/03/28/will-china-open-the-era-of-sovereign-digital-currency/
https://shorturl.asia/ZTeoP
รูปภาพ:
https://www.wired.com/story/chinas-digital-yuan-ecny-works-just-like-cash-surveillance/