การประชุมเอเปค 2022 ได้เริ่มขึ้นภายใต้หัวข้อใหม่ “เปิดกว้าง เชื่อมต่อ สมดุล” กล่าวโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการประชุมผู้นําเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ ศ.ดร.ทัง จื่อมิน ผู้อํานวยการศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (CASPIM) ได้อ้างอิงคําพูดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว (China Xinhua News) ว่าเอเปคเป็นเวทีเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1989 มีสมาชิกในชาติแปซิฟิก 21 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม รวมกันแล้วกลุ่มเอเปคมีประชากรคิดเป็นร้อยละ 38 ของประชากรโลก ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศร้อยละ 62 และการค้าร้อยละ 48 ของโลก
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังกล่าวว่า เอเชียแปซิฟิกเป็นทั้งบ้านของเราและเป็นขุมพลังการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก อีกทั้งได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ “Asia-Pacific Community with a Shared Future” แก่สมาชิกเอเปคที่สะท้อนให้เห็นถึงหัวข้อของการ “เปิดกว้าง เชื่อมต่อ สมดุล” ในการประชุมครั้งนี้วิสัยทัศน์ถูกตีความเป็น เปิดกว้างไม่ปิด (Open not Close) เชื่อมต่อไม่แยกจากกัน (Connect not Decouple) และสมดุลไม่ลำเอียง (Balance not Bias) ดังนี้
เปิดกว้างไม่ปิด (Open not Close): ระบบพหุภาคี (multilateralism) ที่แท้จริงไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นสิ่งจําเป็น ซึ่งไม่ควรเหมารวมกับแบบแผนของอุดมการณ์ ระบบการเมือง และแนวทางการพัฒนา ในแง่นี้แนวทางของอาเซียนในการบรรลุฉันทามติในหมู่สมาชิกถือเป็นแบบอย่าง
เชื่อมต่อไม่แยกจากกัน (Connect not Decouple): ในโลกปัจจุบัน นวัตกรรมและความเจริญรุ่งเรืองอาศัยการไหลเวียนอย่างเสรีของความคิด ผู้คน สินค้า และบริการ ตลอดจนปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ดังนั้น การแยกตัวจากจีน และการขัดขวางห่วงโซ่อุปทานของโลกไม่เพียงแต่เป็นไปไม่ได้แต่ยังเป็นอันตรายอีกด้วย เพื่อการอำนวยความสะดวกด้านการค้าเสรีและการลงทุนประเทศในเอเปคควรรวมตัวและบูรณาการในรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคีต่าง ๆ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และดำเนินการเพื่อให้เกิดเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP)
สมดุลไม่ลำเอียง (Balance not Bias): จีนกําลังสํารวจรูปแบบที่สมดุลของความทันสมัย ความเจริญรุ่งเรืองที่มีร่วมกัน และการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ จากประสบการณ์ของจีนและไทยการเชื่อมโยงเกษตรกรและ SMEs สู่ตลาดโลกผ่านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเป็นทางออกที่ดีสําหรับการพัฒนาที่ครอบคลุมและเพื่อกระจายผลประโยชน์ของโลกาภิวัตน์ไปสู่ประชากรจํานวนมากในสังคม
เรียบเรียงโดย: ศูนย์อาเซียน-จียศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒ์
แหล่งที่มา:
www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/1487/iid/133618
www.innews.news/news.php?n=29776
www.fpojournal.com/apec2022-apecfmm-thailand/
รูปภาพ:
https://thai.cri.cn/2022/11/21/ARTIZ5cF5HeWsYgwxeLynw4G221121.shtml