เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 ทุเรียนชุดแรกได้เดินทางจากดั๊กลัก (Dak Lak) ไปยังผิงเสียง (Ping Xiang) เวียดนามกลายเป็นประเทศที่สองในรายการอนุญาตอย่างเป็นทางการในการส่งออกทุเรียนสดสู่ประเทศจีน สิ่งนี้จะท้าทายตำแหน่งที่โดดเด่นของประเทศไทยอย่างไร ศ.ดร.ทัง จือมิน ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้มีการติดตามข้อมูลใหม่ ๆ ด้านการแย่งชิงตลาดทุเรียนปัจจุบันไว้ในหนังสือ “Fruit That Will Last: Thai Fruit Export to China”
ประเทศจีนเป็นตลาดทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปี 2564 นำเข้าทุเรียนจำนวน 822,000 ตัน โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศไทยที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกที่มีการผลิตไปแล้วกว่า 1 ล้านตันต่อปี เกษตรกรไทยได้รับประโยชน์จากตลาดขนาดใหญ่และมีการเติบโต การส่งออกทุเรียนไปจีนเริ่มขยายตัวในปี 2546 เมื่อมีการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ และประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในรายการอนุญาตให้มีการนำเข้าทุเรียนสดจนถึงปีนี้ (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 ผู้ส่งออกทุเรียนไปจีน
รายการ | ไทย | มาเลเซีย | เวียดนาม |
การอนุญาตของจีน | ทุเรียนสด/แช่แข็ง | ทุเรียนแช่แข็งเท่านั้น
(เนื้อและผล) |
ทุเรียนสด
ผ่านการค้าชายแดนหรือผ่านประเทศไทย |
ส่วนแบ่งตลาดในจีน | มากกว่า 99% | น้อยกว่า 1% | – |
ความสามารถ
ในการผลิต |
มากกว่า 1 ล้านตัน | 0.4 ล้านตัน | 0.6 ล้านตัน |
สายพันธุ์ทุเรียนในจีน | หมอนทอง/ชะนี/กระดุม/ก้านยาว/
พวงมณี |
มูซานคิง/หนามดำ/สุลต่าน | หมอนทอง/Ri6 |
ฤดูกาลเก็บเกี่ยว | มีนาคม-ตุลาคม | มิถุนายน-มกราคม | เมษายน-กรกฎาคม/ตุลาคม-มีนาคม |
ที่มา: เรียบเรียงโดยศูนย์อาเซียน-จียศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒ์
เวียดนามใช้วิธีขายทุเรียนให้จีนอย่างไม่เป็นทางการผ่านการค้าชายแดนหรือในนามสินค้าไทย มีสายพันธุ์หลัก ได้แก่ หมอนทองและRi6 (รูปภาพที่ 1) ข้อได้เปรียบทุเรียนของเวียดนามที่เหนือกว่าไทยในด้านการมีระยะทางขนส่งไปยังประเทศจีนที่สั้นกว่า (ประมาณ 36 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับทุเรียนไทยที่ใช้เวลา 3-4 วัน) และต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า โดยในปี 2564 ราคาจำหน่ายทุเรียนเวียดนามในตลาดจีนต่ำกว่าไทยร้อยละ 50
อย่างไรก็ตาม ปีนี้ทุเรียนของไทยอาจไม่รู้สึกถึงแรงกดดันจากทุเรียนของเวียดนาม ประการที่ 1 สวนทุเรียนในเวียดนามมีเพียง 51 แห่ง (เทียบกับสวนทุเรียนของไทยที่มีกว่า 55,000 แห่ง) ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออก โดยคิดเป็นจำนวน 8,000 ตัน จากประมาณ 600,000 ตันของความสามารถในการผลิตทั้งหมด ประการที่ 2 ราคาทุเรียนแทบไม่ต่างกัน โดยทุเรียนจากทั้งสองประเทศขายได้ประมาณ 1,000 หยวน/กล่อง (330 บาท/กก.) ณ ตลาดขายส่งเดือนกันยายนที่กวางโจว เนื่องจากผลผลิตทุเรียนของไทยมีคุณภาพและปริมาณน้อยลงซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูกาล
มาเลเซียเป็นคู่แข่งอีกรายที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกสำหรับเนื้อทุเรียนแช่แข็งในปี 2554 และทุเรียนแช่แข็งทั้งลูกในปี 2562 มีสายพันธุ์ที่สำคัญ คือ มูซานคิงและหนามดำ (รูปภาพที่ 2) ทั้งสองสายพันธุ์ถูกวางตำแหน่งสำหรับตลาดระดับไฮเอนด์ของนักกินทุเรียนผู้เชี่ยวชาญ (connoisseur) ในปี 2565 ราคาทุเรียนมูซานคิง อยู่ที่ 600-700 บาท/กก. สูงกว่าราคาทุเรียนหมอนทองของไทยสามเท่า สำหรับข้อจำกัดด้านความสามารถในการส่งออกของมาเลเซีย คือ มาเลเซียเป็นประเทศที่มีการบริโภคทุเรียนมากที่สุดในโลกปริมาณผลผลิตถูกบริโภคโดยตลาดภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่จากผลผลิตรวมประมาณ 0.4 ล้านตัน เหลือเพียง 20,000 ตัน ได้รับการจัดสรรสำหรับส่งออกสู่ประเทศจีน
สำหรับการแข่งขันในอนาคตที่คาดการณ์ได้จากประเทศอื่น ๆ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และจีน โดยกำลังการผลิตของกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 37,000 ตัน ล่าสุดลาวดึงดูดนักลงทุนจากเวียดนามและจีนเข้ามาทำสวนทุเรียน บริษัทจีนรายหนึ่งประกาศแผนทำงสวนทุเรียนขนาดประมาณ 17,000 ไร่ในแขวงอัตตะปือ และในปี 2565 มณฑลไห่หนานของจีนก็ได้ประกาศความสำเร็จในการผลิตทุเรียนเชิงพาณิชย์แล้วเช่นกัน โดยปริมาณผลผลิตจะมีจำนวน 45,000-75,000 ตันภายในปี 2567-2568
อย่างไรก็ตามปีนี้แม้มีนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (ZERO COVID-19) ในจีน แต่การส่งออกทุเรียนของไทยไปจีนก็ทำได้ดี ปริมาณการส่งออกในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี 2565 จำนวน 632,499 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2564 จำนวน 586,298 ตัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นถึงอัตราการขยายตัวที่ลดลงในเดือนสิงหาคม โดยปริมาณการส่งออกในช่วงแปดเดือนแรกของปี 2565 จำนวน 686,553 ตัน น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 จำนวน 716,555 ตัน
ตลาดทุเรียนจีนยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าความต้องการของตลาดอาจสูงถึง 1.3-1.5 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของอุปสงค์อาจไม่สามารถรองรับการขยายตัวของอุปทานได้ เนื่องจากจำนวนสวนทุเรียน (จากประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน) เข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้นวัตกรรมการผลิตและการควบคุมคุณภาพที่ดีอาจเป็นทางออกสำหรับทุเรียนของไทยที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการแย่งชิงตลาดทุเรียนในจีน รวมถึงผู้ส่งออกไทยอาจใช้วิธีการแช่แข็งทุเรียนด้วยไนโตรเจนเหลว และการเก็บทุเรียนที่สุกบนต้น อีกทั้งรัฐบาลควรดำเนินนโยบายอย่างเข้มงวดเพื่อขจัดการตัดทุเรียนก่อนกำหนด
เรียบเรียงโดย: ศูนย์อาเซียน-จียศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒ์
แหล่งที่มา:
https://zhuanlan.zhihu.com/
https://bit.ly/3FsF6oz
รูปภาพ:
https://www.xinhuathai.com/china/309063_20220921