จากสถานการณ์ที่จีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยอนุญาตให้มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สินค้าไทยตกอยู่ในภาวการณ์แข่งขันที่ยากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน อีกทั้ง สินค้าไทยมีความเสียเปรียบด้านต้นทุนที่สูงกว่า และระยะทางการขนส่งที่ไกล ดังนั้น การมีแต้มต่อด้วยการสร้างความแตกต่างของสินค้าโดยส่งเสริม “ตราสัญลักษณ์ GI” ซึ่งเป็นสินค้าที่มีแหล่งผลิต คุณภาพ และลักษณะพิเศษเฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งเท่านั้น จะสามรถสร้างความแตกต่าง การมีมูลค่าเพิ่ม การมีจุดขายที่เหนือกว่าคู่แข่ง และเพิ่มโอกาสในการส่งออก
สอดรับกับนโยบายรัฐบาลมีมุ่งส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในภาคเกษตรและสินค้าท้องถิ่น ด้วยการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (geographical indication; GI) (องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) กำหนดให้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง) นับเป็นกลไกสำคัญเพื่อยกระดับเศรษฐกิจบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย
เนื่องจากสินค้าที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เปรียบเสมือนเป็น “แบรนด์” ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพ แหล่งที่มา อัตลักษณ์ ลักษณะเฉพาะ รสชาติเฉพาะของสินค้า ที่สินค้าแบบเดียวกันในท้องถิ่นอื่นไม่มีและเลียนแบบไม่ได้ (พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546) จึงดันมูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว สืบเนื่องจากสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อยู่ในฐานะสินค้าพรีเมี่ยม ด้วยการมีปริมาณผลิตจำกัด ส่งผลให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้มีกำลังซื้อสูงพร้อมยอมรับราคา เห็นได้จากมูลค่าตลาดของสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศสูงถึงกว่า 36,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 19 ต.ค. 2564) นอกจากนั้นยังเป็นการช่วยเปิดตลาดสินค้านั้น ๆ การป้องกันการสวมสิทธิ์ รวมถึงการเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างโอกาสให้สินค้าที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ประสบความสำเร็จในตลาด สิ่งสำคัญก็ คือ การรักษามาตรฐาน การเพิ่มความน่าสนใจของสินค้าผ่านการออกแบบ การพัฒนาสินค้าที่สอดคล้องกับเทรนด์ผู้บริโภค การร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศที่มีศักยภาพในการขยายตลาด บรรจุภัณฑ์ที่มีเรื่องราวเชื่อมโยงท้องถิ่นเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นด้วยการใช้ Storytelling สร้างความแตกต่างและการแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องกับแหล่งที่มาของตัวผลิตภัณฑ์ในความเป็นสินค้าเฉพาะถิ่นที่หาจากที่อื่นไม่ได้ จะช่วยให้ผู้บริโภคจดจำและหวนกลับมาซื้อซ้ำ นับเป็นเครื่องมือในการแข่งขันและสร้างความได้เปรียบทางการค้าได้เป็นอย่างดี
เรียบเรียงโดย: สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัย ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา
แหล่งที่มา:
https://www.tasme.or.th/article/4444/
https://www.brandage.com/article/3131/Geographical-Indication
https://www.thairath.co.th/business/market/2222032
https://www.bangkokbiznews.com/business/964762
รูปภาพ: