กระแสการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย กอปรกับการระบาดของโควิท-19 ส่งผลให้ ผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน (Functional Food) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงในการส่งเสริมสุขภาพด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมจากคุณประโยชน์ทางโภชนาการของอาหาร
จากผลการสำรวจสินค้าอาหารที่วางจำหน่ายทั่วโลกของบริษัทมินเทล (Mintel) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก พบว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปี (ปี 2555 – 2564) มีสินค้าอาหารวางจำหน่าย 1,944,226 รายการ เป็นอาหารประเภทฟังก์ชัน 105,162 รายการ คิดเป็นร้อยละ 5.4 ของสินค้าอาหารทั้งหมด สำหรับตลาดที่มีการวางจำหน่ายสินค้าอาหารฟังก์ชันมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ อินเดีย คิดเป็นร้อยละ 9.5 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 9.2 จีน ร้อยละ 5.7 สหราชอาณาจักร ร้อยละ 5.3 และเม็กซิโก ร้อยละ 3.9 และจากรายงานของนิตยสาร Forbes มีการคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันของโลกในปี 2568 จะมีมูลค่าถึง 3.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 10 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 51 เมื่อเทียบกับปี 2563
สำหรับสินค้าอาหารที่ผลิตในประเทศไทยในช่วงเวลาเดียวกัน (ปี 2555 – 2564) มี 25,900 รายการ แบ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน 1,684 รายการ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.5 ของสินค้าอาหารไทยทั้งหมด โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันของไทยปี 2564 มีมูลค่า 115,490 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของการส่งออกอาหารในภาพรวม ส่วนช่วง 7 เดือนแรกปี 2565 มีมูลค่าส่งออก 95,592 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 คิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกอาหารในภาพรวม โดยตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันสำคัญของไทยช่วง 7 เดือนแรก ประกอบด้วย อาเซียน คิดเป็นร้อยละ 37 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 18 สหภาพยุโรป ร้อยละ 11 จีน ร้อยละ 10.9 และออสเตรเลีย ร้อยละ 4 โดยปัจจัยที่ส่งเสริมการเติบโตของตลาดอาหารฟังก์ชัน อาทิ ความต้องการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันหรือการทำให้ร่างกายแข็งแรง กระแสรักสุขภาพ (health awareness) การป้องกันโรคด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์และยังช่วยลดความเสี่ยงจากโรค การมีนวัตกรรมพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด
จากข้อมูลดังกล่าวนับเป็นโอกาสของประเทศไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศไทยมีศักยภาพ กอปรกับนโยบายการพัฒนาประเทศที่ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศให้เข้าสู่ตลาดอาหารมูลค่าสูงที่เน้นการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันของไทยให้มีสรรพคุณและการวางตำแหน่งสินค้า (Positioning) เนื่องจาก ผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกหลากหลายแห่งเพื่อยืนยันถึงคุณประโยชน์ที่ได้รับ ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และการสนองความต้องการอย่างยั่งยืนที่นำมาซึ่งเม็ดเงินการลงทุน (เทคโนโลยีนวัตกรรม การวิจัยคุณประโยชน์) จำนวนมากที่อาจส่งผลต่อการเข้าตลาดของผู้ประกอบการรายย่อยของไทย
เรียบเรียงโดย: สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัย ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา
แหล่งที่มา:
https://shorturl.asia/aLfDV
https://bit.ly/3foDVvl
https://www.salika.co/2022/05/20/you-are-what-you-eat-trend-thai-economic-to-the-world/
https://www.salika.co/2022/09/16/5-trends-future-food-thailand/
https://www.kerry.com/insights/kerrydigest/2022/functional-food-challenges.html
รูปภาพ:
https://www.intechopen.com/chapters/81948