การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของมนุษย์ เป็นผลให้ทุกคนตระหนักและให้ความสำคัญกับระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปโฉมใหม่สู่การเป็นดิจิทัลในการให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน โดยเฉพาะการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เนื่องจากการแพทย์ทางไกลมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น ภาวะสังคมผู้สูงอายุ ภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วย การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ และความแออัดของโรงพยาบาล
ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ระบุว่า ตลาดการแพทย์ทางไกลในปี 2563 ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 55.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าปี 2564 จะเติบโตเป็น 72.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในช่วงปี 2564 – 2571 ตลาดจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 22.4 ขณะที่มูลค่าตลาดการแพทย์ทางไกลของประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย เติบโตสอดคล้องกับเทรนด์ของตลาดโลก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการนำการแพทย์ทางไกลมาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2020 ตลาดการแพทย์ทางไกลมีมูลค่า 490 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.6 จากปี 2019 ที่มีมูลค่า 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่ามูลค่าตลาดจะแตะระดับ 1,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2026 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 24.2 ต่อปี
สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ.2560 – 2569) ด้วยการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังเห็นได้จากมูลค่าขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ (FDI) ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ที่อุตสาหกรรมการแพทย์ มีมูลค่าเงินลงทุนเป็นอันดับสอง 59,210 ล้านบาท (อันดับหนึ่ง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 77,210 ล้านบาท) ซึ่งมุ่งยกระดับความสามารถการให้บริการด้านสาธารณสุขตามแนวคิดการแพทย์อัจฉริยะ (Smart Healthcare) ที่เป็นการผสมผสานระหว่างความรู้ความชำนาญทางการแพทย์เข้ากับเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ อาทิ Big Data, Cloud Computing, Artificial Intelligence, Blockchain และเทคโนโลยี 5G เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการยกระดับสาธารณสุขด้วยนวัตกรรมต้องอาศัย 4 กลไกสําคัญ ประกอบ การวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรมและอุตสาหกรรมการผลิต (Research and Development, Innovation and Manufacturing: RDIM) กฎระเบียบ (Regulation) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และการพัฒนาบุคลากร (Human Resource Development) เพื่อนำไปสู่การแพทย์อัจฉริยะในการดูแลสุขภาพที่ชาญฉลาดสำหรับผู้ใช้ทั่วไปที่จะสามารถช่วยให้การจัดการสุขภาพด้วยตนเองดีขึ้น เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ทันเวลาและเหมาะสม เนื้อหาของบริการทางการแพทย์จะเป็นส่วนตัวยิ่งขึ้น และสำหรับสถาบันการแพทย์การดูแลสุขภาพที่ชาญฉลาด สามารถลดค่าใช้จ่าย ลดแรงกดดันบุคลากร บรรลุการจัดการวัสดุและข้อมูลแบบรวมศูนย์ และปรับปรุงประสบการณ์ทางการแพทย์ของผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น
เรียบเรียงโดย: สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัย ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา
แหล่งที่มา:
https://globthailand.com/singapore-140521/
https://www.prachachat.net/columns/news-717825
https://tinyurl.com/ty9u878
https://www.tcels.or.th/News/Press-Release/2226?lang=th
รูปภาพ:
https://www.science.org/content/article/telemedicine-takes-center-stage-era-covid-19