พัฒนาแบบจีน: EV ก้าวไกลสู่ตลาดโลก
ปี 2563 เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่เป็นปีที่ยานยนต์ไฟฟ้ากลับเติบโตอย่างก้าวกระโดด ยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท (Any Electric Vehicle: xEV) สูงถึง 3.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 จากปีก่อน ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าได้รับแรงผลักดันจากยอดขายในตลาดยุโรปที่เติบโตอย่างมากด้วยความต้องการการขนส่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ประเทศเยอรมนีมีสัดส่วนยานยนต์สูงสุดในโลกที่ร้อยละ 26.6 รองลงมานอรเวย์ร้อยละ 87.1 และสวีเดนร้อยละ 25.8 (ไทยร้อยละ 1.2)
จากปัจจัยข้างต้นส่งผลต่อยานยนต์พลังงานใหม่สัญชาติจีนที่กำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีอัจฉริยะลดการปล่อยมลพิษ นับเป็นตัวอย่างที่ดีในความสามารถด้านการแข่งขันที่เกิดจากความพยายามพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงการสลับแบตเตอรี่ด้วยการแตะเพียงครั้งเดียวบนจอแสดงผลส่วนกลาง ดังเช่น การเปิดโชว์รูมของค่าย NIO แห่งแรกในยุโรปที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ NIO เป็นหนึ่งในแบรนด์รถ EV (Electric Vehicle) ที่ทำการตลาดแบรนด์จีนในยุโรปมาอย่างยาวนาน รวมถึงบริษัทสตาร์ทอัพ XPeng, Hongqi และ Build Your Dreams (BYD) เป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนที่โด่งดังจากการผลิตรถเมล์ไฟฟ้าในประเทศแถบยุโรป อีกทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนจำนวนหนึ่งได้ก้าวเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน อาทิ Xiaomi ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จีน เปิดตัวบริษัทในเครือเมื่อกันยายน 2564 และ GAC Group ได้ประกาศเมื่อต้นปีถึงโครงการร่วมกับ Huawei ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจีนเพื่อพัฒนา “เอสยูวีอัจฉริยะ”
อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของจีนที่ต้องการพลิกบทบาทโลกยานยนต์จากเพียง “ผู้รับจ้างผลิต” (Original Equipment Manufacturer: OEM) ไปสู่ “ผู้ผลิตและคิดค้นแบรนด์ของตนเอง” (Original Brand Manufacturer: OBM) ด้วยการใช้มาตรการส่งเสริมการแข่งขันแก่ผู้ผลิตยานยนต์ EV ในประเทศที่ได้รับแรงผลักดันและการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภคดังนี้
- การให้เงินอุดหนุนแก่ผู้ซื้อยานยนต์ EV (ทั้งแบบส่วนบุคคลและแบบพาณิชย์)
- การให้บริษัทผู้ผลิตยานยนต์สามารถขายเครดิต EV ส่วนเกินให้แก่บริษัทอื่น เพื่อหารายได้เพิ่มเติมและกระตุ้นให้ผู้ผลิตจากต่างประเทศพิจารณาการผลิต EV ในจีนอย่างจริงจัง
- การอนุญาตให้บริษัทต่างชาติที่เป็นเจ้าของทั้งหมด (WFOEs) สามารถร่วม ลงทุนกับบริษัททผู้ผลิตท้องถิ่นได้ในรูปแบบของกิจการร่วมค้า (Joint Venture)
- การกำหนดให้ 1 ใน 3 ของผู้ผลิตเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการสร้างระบบขับเคลื่อน EV จะต้องเป็นผู้ผลิตในประเทศ
- การเร่งกระบวนการจัดซื้อเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม EV ยิ่งกว่านั้น การเดินหน้าซื้อกิจการของกลุ่มทุนจีนที่นอกจากจะช่วยขยายฐานตลาดยานยนต์อย่างรวดเร็วแล้ว ยังช่วยให้ผู้ผลิตได้เรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ จากบริษัทยานยนต์เก่าแก่ระดับโลกอีกด้วย
ปัจจัยเหล่านี้ที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนเป็นไปตามแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ ระหว่างปี 2021 – 2035 ได้อย่างมีนัยสำคัญ
เรียบเรียงโดย: สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัย ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา
แหล่งที่มา:
http://www.news.cn/english/2021-10/06/c_1310228756.htm
https://krungthai.com/Download/economyresources/EconomyResourcesDownload_459EV_31_05_64.pdf
รูปภาพ:
https://www.nio.com/cdn-static/www/index/assets/slider-03.jpg