นโยบายพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ของโลก มีการพูดถึงอีกครั้งภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 ที่พิจารณาแนวทางส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศตามนโยบาย 30/30 เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ซึ่งกำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศที่ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 โดยกำหนดแผนระยะเร่งด่วน 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน): ปี 2564–2565 นำร่องส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั่วประเทศ
ระยะที่ 2: ปี 2566–2568 พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 18,000 คัน ภายในปี 2568 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแรกและถือว่าเป็นเป้าหมายการผลิตในระดับ Economy of Scale
ระยะที่ 3: ปี 2569–2573 ขับเคลื่อนแผนและมาตรการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุตามนโยบาย 30/30 ซึ่งมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตทั้งสิ้น 675,000 คัน คิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตในปี 2573 และรวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศ
แผนการอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าสอดรับแผนพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และโรดแมปการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ปี 2578 ซึ่งเป็นกลไกที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามีทิศทางเติบโตขึ้น เพื่อเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมยานยนต์อันดับ ๑ ในอาเซียนและอันดับ ๑๐ ของโลก ด้วยนโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมุ่งพัฒนาให้ EEC มีระบบนิเวศที่เหมาะสมและเอื้อต่อภาคการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งเชิงนโยบาย และสิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการลงทุน ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับประเทศจีน เนื่องจาก จีนกำลังเป็นผู้นำโลกด้านการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดในอนาคต ด้วยการผลิตเทคโนยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่จีนครองยอดจำหน่ายรถยนยต์ไฟฟ้าเป็นอันดับ 7 ของโลกตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025) หมายรวมถึงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยานยนต์พลังงานใหม่ (New Energy Vehicles: NEV) ที่จะกลายเป็นกระแสหลักของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีนซึ่งเป็นไปตามแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ ระหว่างปี 2021 – 2035 ที่ระบุว่ายานยนต์พลังงานใหม่จะครองสัดส่วนร้อยละ 20 ของยอดจำหน่ายยานยนต์พาหนะใหม่ภายในปี 2025 โดยในปี 2020 จำนวนยานยนต์พลังงานใหม่ที่ขึ้นทะเบียนในจีนมีจำนวน 4.92 ล้านคัน ขณะที่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ มีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านหยวน (5.16 แสนล้านบาท) การพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของจีนสืบเนื่องจาก นวัตกรรมที่ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในความพยายามสร้างความทันสมัย จำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องเร่งสร้างความร่วมมือกับจีนเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ในการที่จะแสดงถึงศักยภาพของประเทศที่จะก้าวสู่ศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอาเซียนและการมีบทบาทสำคัญใน Global Value Chain แม้มีคู่แข่งอย่างเวียดนาม
เรียบเรียงโดย: สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัย ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา
แหล่งที่มา:
https://www.xinhuathai.com//silkroad/221018_202108
https://www.mmthailand.com/บอร์ด-ev-เตรียมออกมาตรการ-2/.
รูปภาพ:
https://thomasthailand.co/innovation/รถยนต์ไฟฟ้า