หนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีนที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการปฏิบัติการขจัดความยากจนด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแนวทางการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามความเหมาะสมของพื้นที่เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างแพลตฟอร์มให้บริการนวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการ การส่งเสริมถ่ายทอดผลงานวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ตลอดจนการให้บริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากปัจจุบันขนาดตลาดกว้างขึ้นเพราะอีคอมเมิร์ซมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว
แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีนสอดรับกับแนวทางการพัฒนาของไทยตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศผ่าน BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ที่จะเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เนื่องจาก สภาพการของไทยมีพื้นที่ทางการเกษตรและจำนวนประชาชนที่เป็นเกษตรกรจำนวนมาก เพื่อที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรจากเดิมที่ทำมากได้น้อย มาเป็นการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น ซึ่งต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้าไปยกระดับผลิตภาพที่จะนำไปสู่การลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต การสร้างความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์ การประหยัดเวลาและแรงงานคน การพัฒนาคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร และการอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกร ซึ่งเป็นแนวทางในการสร้างโอกาสและต่อยอดการทำการเกษตรของไทยให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป หรือ เรียกว่า นวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ (Agricultural Technology: AGTECH) ได้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างเกษตรกรยุคใหม่ (Smart Farmer) ให้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ผ่านการทำเกษตรดิจิทัลด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ต่อการทำเกษตร อาทิ การเก็บข้อมูลสภาพดิน สภาพน้ำ อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสง พื้นที่เพาะปลูก เจริญเติบโต ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เข้าใจปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เพื่อช่วยหาแนวทางการทำการเกษตรที่เหมาะสม แม่นยำ และมีประสิทธิภาพสูงสุดให้กับเกษตรกร ตลอดจนการนำข้อมูลที่มีมาใช้ต่อยอดควบคู่กับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) หรือแม้แต่ Mobile technology เพื่อควบคุมการผลิตโดยเกษตรกรแทบจะไม่ต้องลงไปคลุกคลีด้วยตัวเอง ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวข้างต้นจะประสบความสำเร็จหรือสัมฤทธิ์ผลได้ต้องผ่านกระบวนการที่ประกอบด้วย1) การสาธิตและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในขยายผลเพื่อพัฒนาพื้นที่ยากจนในการสร้างหรือเพิ่มรายได้ 2) การเพิ่มขีดความสามารถด้านบุคลากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 3) การให้บริการแพลตฟอร์มและแหล่งรวบรวมทรัพยากร 4) การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 5) การสนับสนุนและส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กลไกการยกระดับคุณภาพชีวิต การกระจายโอกาส การลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกคนโดยการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนดังคำกล่าวที่ว่าการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leaving no one behind)
เรียบเรียงโดย: สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัย ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา
แหล่งที่มา:
https://www.mhesi.go.th/images/Pusit2021/pdfs/TH-CN01-64-696×984.pdf
https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/bcg-by-nstda/
https://www.salika.co/2021/07/07/agtech-technology-for-smart-farmer-thailand/
รูปภาพ:
https://www.salika.co/2021/07/07/agtech-technology-for-smart-farmer-thailand/