สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดเผยภายในการประชุมระดับสูงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยความร่วมมือหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (The Asia and Pacific High-level Conference on Belt and Road Cooperation) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ว่าพร้อมทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศตามแนวคิดริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างการพัฒนาระหว่างประเทศ ซึ่งช่วง 8 ปีที่ผ่านมานับจากมีการเสนอแนวคิดริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางเมื่อปี 2556 ที่มีพันธมิตรให้ความร่วมมือมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันจำนวน 171 ประเทศ (ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2564) ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือนี้ อีกทั้งมีองค์กรระหว่างประเทศได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับจีนแล้วจำนวน 205 ฉบับ ซึ่งเป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมและผลประโยชน์ร่วมกันที่ทุกฝ่ายได้ส่งเสริม ประสานงานนโยบายเพื่อเกิดความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก การค้าที่ไม่มีอุปสรรค การรวมกลุ่มทางการเงิน ความร่วมมือเชิงปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ และเกิดโอกาสต่อประชาชนที่ครอบคลุม ดังคำกล่าวของสี จิ้นผิง ที่ว่า “ห่านสามารถบินผ่านลมและฝนได้เป็นเวลานานเพราะพวกมันบินเป็นฝูง” (Geese can fly through wind and rain for a long time because they fly in flocks)
หากพิจารณาการลงทุนโดยตรงที่ไม่ใช่ทางการเงินของจีนไปยังประเทศต่างๆ เมื่อปี 2020 ตามแนวคิดริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง มีการลงทุนจำนวน 17,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 กอปรกับรายงานของธนาคารโลกที่มีรายงานว่าโครงการตามแนวคิดริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางนี้สามารถช่วยให้ผู้คนจำนวน 7.6 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนขั้นรุนแรง และคาดการร์ว่าภายในปี 2030 ผู้คนทั่วโลกจำนวน 32 ล้านคน จะพ้นจากความยากจนระดับปานกลาง
เช่นเดียวกับการก่อสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างจีน-ลาว สายคุนหมิง-เวียงจันทน์ เป็นผลจากการลงทุนโดยตรงที่ไม่ใช่ทางการเงินของจีนที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและจะเปิดดำเนินการได้ภายในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ซึ่งในมุมของ สปป.ลาว เส้นทางรถไฟสายดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในโครงการยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยปลดล็อคการเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (Land-locked Country) ไปสู่การเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าทางบกที่สำคัญของลุ่มแม่น้ำโขง (Land-linked Country) ที่คาดว่าจะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางด้วยรถโดยสารจากเดิมที่ใช้เวลากว่า 30 ชั่วโมง เหลือเพียงไม่ถึง 10 ชั่วโมงด้วยรถไฟ ซึ่งทำความเร็วสูงสุดได้ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากการเปลี่ยนรูปแบบของการขนส่งจากทางน้ำเป็นทางรถไฟ เพื่อย่นระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง นับเป็นกลยุทธ์ดึงการลงทุนจากต่างประเทศไม่เพียงแต่ส่งเสริมการค้าทวิภาคี การลงทุน และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่างๆ ที่จะเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์จากการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุตสาหกรรมระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วยเส้นทางรถไฟสายนี้ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้แนวคิดริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง
สำหรับประเทศไทยเส้นทางรถไฟสายนี้นับเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่ต้องเตรียมพร้อมไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า ด้านการบริการ ด้านการท่องเที่ยว และด้านการลงทุนที่จะต้องพัฒนาเพื่อขยายตลาดต่อไป เนื่องจาก จีนมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้มณฑลยูนนานโดยเฉพาะคุนหมิงกลายเป็นศูนย์กลางคมนาคมระบบรางที่สําคัญ ด้วยการมีเส้นทางรถไฟกระจายรอบเมืองและมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากต่างมณฑลรอบๆ เข้าสู่คุนหมิง รวมถึงมีเส้นทางระหว่างประเทศเชื่อมสู่อาเซียนและเอเชียใต้ที่จะกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระบบรางที่สําคัญของภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ดังนั้น การพัฒนาระบบโลจิสติกส์เชื่อมเข้ากับจีนโดยเฉพาะมณฑลยูนนานที่อยู่ใกล้ไทยมากที่สุดนี้นับว่าเป็นผลดีแก่ประเทศไทย
เรียบเรียงโดย: สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัย ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา
แหล่งที่มา:
https://bit.ly/3jQC8PM
รูปภาพ:
https://futuresoutheastasia.com/vientiane-boten-railway/