BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ BCG เป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
BCG จะทำให้ประเทศไทยเป็นไทยแลนด์ 4.0 อย่างแท้จริง เพราะเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมเศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดการจ้างงานรายได้สูง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณของเสียจากระบบ สร้างความมั่นคงและยกระดับการความสามารถในการแข่งขัน
BCGขับเคลื่อนโดยการทำงานแบบจตุภาคี ภาคเอกชน ภาครัฐบาล มหาวิทยาลัย และชุมชน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากพันธมิตรความร่วมมือระดับโลก โดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะขับเคลื่อนศักยภาพของหน่วยงานภายใต้กระทรวง ทั้งในมิติวิจัย องค์ความรู้ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (National Quality Infrastructure: NQI) และการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรม มาใช้เพื่อร่วมขับเคลื่อนการทำงานในรูปแบบจตุภาคีร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา และชุมชน
ทั้งนี้มีการผลักดันให้ BCG เกิดขึ้นได้จริง ด้านเกษตรกรรม โดยยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) 77 จังหวัด เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ในระดับภูมิภาค ด้านอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จะมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยทั้งในแง่ของกฎหมาย กฎระเบียบ สิทธิประโยชน์ และการพัฒนาระบบนิเวศ ปรับโครงสร้างการผลิตและโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจรตั้งแต่การผลิต การบริโภค การจัดการของเสีย จนถึงการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและของเสีย รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศกับ ‘Circular Startup’ ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ขยะเป็นศูนย์ด้วย โดยมีแผนในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับพื้นที่ของจังหวัดนำร่องภาคเหนือตอนบน ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้อนุมัติงบประมาณลงทุนด้านกิจการไบโอเทค เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง กว่า 2,400 ล้านบาท
ปัจจุบันจีนมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก รวมถึงพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไฮเทคขึ้น ทั้งรถยนต์อีวี ภาคเกษตร ภาคบริการสมัยใหม่ และเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ประเทศไทยสามารถนำประโยชน์เหล่านี้ โดยการจับคู่ความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันวิจัยต่าง ๆ เพื่อต่อยอดให้ BCG มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
เรียบเรียงโดย ดร.วรรณฤดี ตั้งทรัพย์วัฒนา นักวิจัย ศูนย์อาเซียน จีนศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
แหล่งที่มา
https://www.nxpo.or.th/th/bcg-economy/
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/859943
https://www.sdgmove.com/2021/04/14/bcg-economy-model-trend-th-national-agenda-2021/
https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/bcg-by-nstda/
https://www.thansettakij.com/content/business/229772
https://brandinside.asia/china-surpass-usa-on-research-and-development-on-science/