อนาคตทุเรียนไทย 5 ปีข้างหน้ายังมีโอกาสที่ดี แต่ต้องเน้นตลาดทุเรียนเฉพาะถิ่นและทุเรียน อัตลักษณ์ เนื่องจาก ตลาดจีนเปิดโอกาสให้ทุเรียนจากประเทศอื่นเข้าจำหน่ายได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจากข้อมูลการส่งออกทุเรียนไทยช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 ไทยมีการส่งออกทุเรียนสดมูลค่า 27,502 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจีนเป็นตลาดหลักมีมูลค่าการส่งออกจำนวน 24,172 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.45 โดยปี 2563 ไทยมีการส่งออกทุเรียนสด 65,631 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 44 ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าตลาดทุเรียนไทยขึ้นอยู่กับจีนเป็นหลัก เพราะส่งออกไปจีนสูงถึงร้อยละ 73 ของยอดการส่งออกรวม ขณะที่การบริโภคภายในประเทศเพียงร้อยละ 40 ของผลผลิตทั้งหมด
จากกระแสความนิยมบริโภคทุเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นผลให้ กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลสินค้าเกษตรของกัมพูชา ได้กำหนดแผนการพัฒนาของกระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมให้ทุเรียนเป็นอีกหนึ่งสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยส่งเสริมการผลิตทุเรียนด้วยการขยายพื้นที่เพาะปลูกและการกำหนดมาตรฐานโรงงานผลิต อีกทั้ง ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนจัดตั้งสมาคมชาวสวนทุเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันกัมพูชามีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 3.4 หมื่นไร่ ในจำนวนนี้ ประมาณ 2.2 หมื่นไร่ สามารถให้ผลผลิตได้ประมาณ 36,656 ตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เพาะปลูกในจังหวัดกัมปอต กำปงจาม เกาะกง และ พระตะบอง โดยทุเรียนของกัมพูชามีรสชาติหวานเฉพาะตัว แตกต่างจากทุเรียนไทยที่มีรสชาติหวานมัน
จากการที่จีนเปิดโอกาสให้ทุเรียนจากประเทศอื่นเข้าจำหน่ายในตลาดได้เช่นเดียวกับทุเรียนไทยส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้ง หากผลผลิตทุเรียนของกัมพูชามีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด อาจส่งผลประทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยได้เช่นกัน เช่นเดียวกับทุเรียนจากมาเลเซียที่จีนนำเข้ามากเป็นอันดับสองรองจากไทย ซึ่งมาเลเซียได้ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตทุเรียนด้วยการจัดตั้งหน่วยงาน FAMA (Federal Agricultural Marketing Authority) เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อ หาตลาด ให้คำแนะนำ จัดการบรรจุภัณฑ์ ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแก่ทุเรียนในประเทศ
ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยต้องปรับตัวโดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพทุเรียนให้มีมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ การพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบทุเรียนที่ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการไม่ใช่การตัดทุเรียนอ่อน การปรับปรุงสายพันธ์ุ การเพิ่มความเข้มงวดของมาตรฐานสินค้า การพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายเพื่อขยายกลุ่มลูกค้าและสินค้าใหม่ๆ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถถนอมอาหารและคงความสดของทุเรียนได้ดีขึ้น รวมถึงการปรับปรุงการขนส่งให้สามารถประหยัดเวลาในการส่งมอบ และการหาตลาดใหม่ในพื้นที่ทางมณฑลตอนในของจีน
เรียบเรียงโดย: สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัย ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา
แหล่งที่มา:
https://web.facebook.com/chinamovement/posts/1642238429320215
https://bit.ly/3w9MkX9
https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/474583
รูปภาพ: https://bit.ly/3glMXX1