นับจากปี 2555 จีน ประกาศระงับการนำเข้าชมพู่จากประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เนื่องจาก พบแมลงวันผลไม้ติดไปกับผลผลิต ทางรัฐบาลไทยโดยกรมวิชาการเกษตและกรมส่งเสริมการส่งออกได้เจรจาแก้ปัญหากับรัฐบาลจีน โดยกำหนดให้มีการควบคุมแมลงวันทองตั้งแต่ในสวน โดยกำหนดให้มีการห่อผลชมพู่ด้วยถุงพลาสติกหนาพิเศษ ขนาดความหนาประมาณ 12.5 ไมครอน ที่รับรองโดยกรมวิชาการเกษตรเพื่อให้เป็นไปตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านกักกันโรคและตรวจสอบ สำหรับผลไม้เมืองร้อนที่ส่งออกจากไทยไปจีน ปี 2547 และพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการนำเข้าและส่งออกผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างไทยและจีน ปี 2563
ปัจจุบันจีนได้กำหนดให้ผลไม้สดของไทยจำนวน 10 ชนิด ที่จะส่งออกไปจีน คือ มะม่วง ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด มะพร้าว สับปะรด ขนุน กล้วย รวมถึงชมพู่ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ว่าต้องมาจากสวนและโรงคัดบรรจุที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตรและสำนักงานศุลกากรของจีน (General Administration of China Customs: GACC) เท่านั้น โดย GACC ของจีนได้ดำเนินการประกาศรับรองการขึ้นทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุชมพู่ส่งออกของไทยไปจีนที่ปรากฎบนเว็บไซต์ของ GACC แล้วจำนวน 46 สวน และโรงคัดบรรจุจำนวน 4 แห่ง
อนึ่ง จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าชมพู่รายใหญ่ของไทยที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดคิดเป็นร้อยละ 1 ของการส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดโลก โดยปี 2563 การส่งออกชมพู่ไทยไปจีนมีปริมาณ 5 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.4 ล้านบาท หรืออยู่อันดับที่ 12 จากปริมาณการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนสูงสุดจำนวน 14 ชนิด ซึ่งการส่งออกชมพู่ของไทยไปจีนจะส่งไปยังกว่างโจวและเฉิงตูเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ชมพู่ของเวียดนาม และชมพู่ที่มาจากจีนตอนใต้ นับเป็นคู่แข่งที่สำคัญของชมพู่ไทยในตลาดจีน
ที่มาข้อมูล: การสัมภาษณ์ คุณสมชาย เจริญสุข เจ้าของสวนชมพู่เจริญสุข จ.ราชบุรี
การสัมภาษณ์ คุณนพรัตน์ บัวหอม นักวิชาการเกษตรระดับชำนาญการ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร
https://today.line.me/th/v2/article/Qk6YGe
ที่มารูปภาพ: https://www.facebook.com/ChompooCLS/
เรียบเรียงโดย: สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัย ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา