มะพร้าวน้ำหอมของราชบุรีมีคุณสมบัติที่โดดเด่นด้าน “ความหอม” ซึ่งสารที่ให้ความหอมนี้เรียกว่า สารหอม 2-acetyl-1-pyrroline (2AP) มีความคล้ายคลึงกับกลิ่นหอมในข้าวหอมมะลิและใบเตย ซึ่งแตกต่างจากมะพร้าวของพื้นที่อื่น อีกทั้ง น้ำของมะพร้าวน้ำหอมประกอบด้วยแร่ธาตุ วิตามิน ฮอร์โมน และสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค
จากจุดเด่นดังกล่าวส่งผลให้บริษัท เอแอนด์เจ ผลไม้ไทย จำกัด เข้ามาดำเนินกิจการด้านมะพร้าวมากกว่า 30 ปี กำลังการผลิต 100,000 ลูก/วัน ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่ผลิตได้เป็นมะพร้าวตัดแต่ง ได้แก่ มะพร้าวควั่น มะพร้าวเจีย และมะพร้าวหัวโต นอกจากนั้นยังขยายไลน์การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์มะพร้าวแปรรูป ได้แก่ วุ้นในลูกมะพร้าว วุ้นในถ้วย พุดดิ้งในถ้วย น้ำมะพร้าวพาสเจอไรซ์ 100 เปอร์เซ็นต์ น้ำมะพร้าวปรุงแต่งหลากรส รสนม ช็อกโกแลต ชาเขียว ชาไทย รวมถึง ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ “coco easy” อาทิ การเฉาะเป็นฝา โดยใช้แสงเลเซอร์เพื่อให้ง่ายต่อการรับประทาน
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 70 แบ่งเป็นการส่งออกไปจีนร้อยละ 75 ซึ่งเป็นมีการส่งออกไปยังคู่ค้าจีนที่กว่างโจว เซี่ยงไฮ้ และ เสิ่นหยาง อีกร้อยละ 30 ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ยุโรป และชาติอาเซียน ภายใต้แบรนด์ “โคโคนัท โฟร์ยู” (Coconut4u)
สำหรับทิศทางการส่งออกมะพร้าวน้ำหอมไทยไปจีนช่วงปี 2555-2558 มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเข้าปี 2562 เป็นต้นมามีภาวะหดตัว เนื่องจาก ผู้ค้าชาวจีนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและจีนก็สามารถผลิตมะพร้าวน้ำหอมได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะมะพร้าวในพื้นที่ของไหหลำซึ่งมีราคาอยู่ที่ 2-3 หยวน โดยมะพร้าวสายพันธุ์ใหม่ที่จีนพัฒนาขึ้นมีชื่อว่า “เหวินเย” มีจุดเด่นด้านการให้ผลผลิตเร็ว การออกผลจำนวนมาก น้ำมะพร้าวมีรสหวาน กลิ่นหอม ลำต้นเตี้ย ทั้งหมดนี้ นับเป็นความท้าทายของมะพร้าวไทยในตลาดจีนที่ต้องแข่งด้วยคุณภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจาก มะพร้าวไทยมีราคาสูงถึง 12 หยวน
ที่มาข้อมูล: การสัมภาษณ์ คุณสุรวุฒิ ปวุติภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอแอนด์เจ ผลไม้ไทย จำกัด เมื่อ 1 มีนาคม 2564
https://www.xinhuathai.com/china/184557_20210311.
ที่มารูปภาพ: http://aandjthaifruit.ftiebusiness.com/
เรียบเรียงโดย: สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัย ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา