เส้นทางสายไหมใหม่ (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีนเปรียบเสมือนสะพาน (Bridge) เชื่อมจีนกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก
โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub region: GMS) หากพิจารณาภูมิศาสตร์ของประเทศ พบว่า ลาวเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล (Land Lock) แต่ข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์นี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศแม้แต่น้อย แต่กลับใช้ความได้เปรียบนี้ในการวางนโยบายด้านการเชื่อมโยงประเทศสมาชิก GMS เข้าด้วยกัน โดยใช้ประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางคมนาคมทางบกที่สำคัญของ GMS อีกทั้ง ยังเป็นอีกหนึ่งจิกซอว์สำคัญของเส้นทางสายไหมใหม่ของจีนภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างจีน-ลาว (คุนหมิง-เวียงจันทน์) ส่งผลให้ลาวก้าวสู่การเป็น Land Link อย่างเป็นรูปธรรม
จากนโยบายการพัฒนาประเทศของลาวส่งผลให้ไทยต้องเร่งดำเนินการสร้างความได้เปรียบรวมถึงการอำนวยความสะดวกต่อการค้าและการลงทุนเพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกขบวน โดยการตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ของจังหวัดอุดรธานี ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์โลจิสติกส์ (Logistics Park) ซึ่งมีทำเลที่ตั้งอยู่ในโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงทั้งในและนอกประเทศ การมีเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศเพื่อนบ้านกับจีนตอนใต้ โดยใช้เส้นทาง R12 R9 และ R8 การอยู่ในเส้นทางรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย สามารถรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีนตอนใต้ไปยังท่าเรือแหลมฉบังและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตลอดจนการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ก่อเกิดประโยชน์ต่อระบบคมนาคมที่สมบูรณ์แบบ มีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำ การลดระยะเวลาการขนส่งได้ถึงร้อย 30 ที่สำคัญสามารถลดต้นทุนลงกว่า 2 เท่า การเชื่อมต่อไปยังท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง อีกทั้ง จังหวัดอุดรธานีจะมีเครือข่ายคมนาคมขนส่งที่ทรงประสิทธิภาพและสมบูรณ์แบบ ทั้งรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย-เวียงจันทน์-คุนหมิง สำหรับรองรับการขนส่งสินค้า ผู้โดยสาร และรถไฟทางคู่ภายในปี 2568 ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นนโยบายที่เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันที่สำคัญของไทย
ที่มาข้อมูล: การสัมภาษณ์ ดร.ชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย
https://www.ryt9.com/s/exim/2688415 และ https://www.esanbiz.com/36111
ที่มารูปภาพ: https://www.trjournalnews.com/4485
เรียบเรียงโดย สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัย ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา