การขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนสามารถทำได้ 3 ช่องทางดังนี้
- การขนส่งทางบก ใช้ระยะเวลาขนส่ง 2-3 วัน แต่ราคาการขนส่งสูงกว่าการขนส่งทางเรือ 2 เท่า
- การขนส่งทางทะเล เข้าท่าเรือที่กว่างโจวและเซี่ยงไฮ้ใช้ระยะเวลาขนส่ง 7 วัน
- การขนส่งทางรถไฟ นับว่ายังมีความล่าช้า (วิ่งได้ 35 กม./ชม.) และสามารถขนส่งสินค้าได้ในปริมาณไม่มาก แต่ภายหลังได้มีการปฎิรูประบบการขนส่งทางรางส่งผลให้สามารถขนส่งสินค้าได้ในปริมาณมากขึ้นถึง 160 ตู้
การขนส่งสินค้าในแถบเอเซียนิยมขนส่งสินค้าด้วยเรือตู้สินค้าขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (Feeder Service Vessel) ที่ขนส่งตู้สินค้าจากเรือสินค้าขนาดใหญ่ (เรือแม่) ไปยังท่าเรือ หรือจากท่าเรือไปยังเรือแม่ ซึ่งสามารถบรรทุกตู้สินค้าได้สูงสุดถึง 8,000 TEU
จากสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนทางเรือ ดังนี้
- การหยุดชะงักของระบบโลจิสติกส์ทางเรือ
- ปัญหาความแออัดในท่าเรือ
- การไม่มีระวางเรือขนส่งสินค้าเนื่องจากมีการถอดระวางเรือออกจากระบบสูงถึงร้อยละ 30
- การมีตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
- การเพิ่มขึ้นของค่าระวางเรือสูงถึง 6 เท่าจากสถาการณ์ปกติ
ทั้งหมดนี้ เป็นผลมาจากการหมุนเวียนตู้สินค้าที่ไม่ต่อเนื่อง โดยสถานการณ์ปกติใช้ระยะเวลาการหมุนเวียนตู้สินค้าภายใน 5 วัน แต่เมื่อมีการแพร่ระบาด Covid-19 ระยะเวลาการหมุนเวียนตู้สินค้าในระบบกลับใช้ระยะเวลานานถึง 30 วัน โดยตู้สินค้าส่วนใหญ่มีการติดค้างอยู่ที่ท่าเรือในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เนื่องจาก มีแต่สินค้าส่งเข้าไปยังประเทศเหล่านี้แต่กลับไม่มีสินค้าส่งออก ส่งผลให้ระบบการหมุนเวียนตู้สินค้าเกิดปัญหาหยุดชะงัก
ที่มาข้อมูล: การสัมภาษณ์คุณพรชัย เอื้อวีระวัฒน์ นายกสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย
ที่มารูปภาพ: คณะวิจัย
เรียบเรียงโดย สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัย ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา