การส่งออกผลไม้ของไทยไปตลาดโลกในปี 2563 มี มูลค่ารวม 128,337 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 113,118 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.45 โดยจีนเป็นตลาดส่งออกที่สําคัญ มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกถึงร้อยละ 71.18 ผลไม้ไทยส่งออกไปจีนมูลค่าสูงสุดสามอันดับแรกได้แก่ ทุเรียน มีมูลค่าอยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านบาท ลำไย 1.2 หมื่นล้านบาท และมังคุด 1.1 หมื่นล้านบาท
จากสถานการณ์โควิด-19 ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในด้านการส่งออกผลไม้สดไปจีน ทั้งในเรื่องปัญหาขาดแคลนแรงงานเก็บผลไม้ การขนส่ง และการกระจายสินค้าในตลาดจีนมีความล่าช้าเนื่องจากการปิดด่านนำเข้า ตลอดจนถึงมาตรการตรวจนําเข้าสินค้าของจีนเข้มงวดกว่าที่ผ่านมา ทำให้ใช้เวลานาน และก่อให้เกิดต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น ทำให้ภาคเกษตรจำต้องปรับตัวสู่วิถีใหม่ มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ขณะเดียวกัน ได้มีการจับคู่ธุรกิจออนไลน์กับผู้นําเข้าจีนที่ไม่สามารถเดินทางได้ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการเดินทางไปเจรจาธุรกิจ
ทั้งนี้ การขยายตลาดผลไม้ไทยในจีนมีทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ซึ่งร่วมกับบริษัทนําเข้าจีน จึงทําให้ตลาดผลไม้ของไทยขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองรองที่ไม่ใช่เมืองหลักในการนําเข้าผลไม้จากไทย ประกอบกับระบบโลจิสติกส์ของจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีระบบห้องเย็นที่รองรับการขนส่งจํานวนมาก ทำให้ใช้ระยะเวลาในการขนส่งสั้นลง อีกทั้งยังช่วยรองรับระบบการขายออนไลน์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้า ช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกผลไม้ไทยได้มากขึ้น
ส่วนความท้าทายอีกอย่างที่ไม่ควรมองข้ามคือความท้าทายจากการที่หลายประเทศเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดผลไม้สดในจีน ไทยมีคู่แข่งที่สำคัญในตลาดผลไม้สดจีนได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ไต้หวัน กัมพูชา ฟิลิปปินส์
มาเลเซีย มีสินค้าคู่แข่ง ได้แก่ ทุเรียนแช่แข็ง และมังคุด
เวียดนาม มีสินค้าคู่แข่ง ได้แก่ ลําไย มะพร้าว และเงาะ
อินโดนีเซีย มีสินค้าคู่แข่ง ได้แก่ มังคุด และมะพร้าว
ไต้หวัน มีสินค้าคู่แข่ง ได้แก่ ชมพู่ น้อยหน่า ส้มโอ และมะม่วง
กัมพูชา มีสินค้าคู่แข่ง ได้แก่ มะม่วง
ฟิลิปปินส์ มีสินค้าคู่แข่ง ได้แก่ มะพร้าว
ถึงแม้ไทยมีข้อได้เปรียบจากประเทศคู่แข่ง ทั้งจำนวนผลไม้ที่ส่งออกไปจีนซึ่งมีถึง 22 ชนิด และรสชาติที่ดีกว่า แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรพัฒนาความหลากหลาย รักษาตลาดและครองใจผู้บริโภคจีนอย่างยั่งยืน เน้นเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อสร้างความแตกต่างระหว่างผลไม้ไทยในตลาดจีนกับประเทศคู่แข่ง อีกทั้งต้องมีการปฏิบัติตามพิธีสารการส่งออกผลไม้จากไทยไปจีนอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตลาดจีนมากยิ่งขึ้น
หมายเหตุ: พิธีสารคือ ความตกลงระหว่างประเทศอย่างหนึ่ง ได้แก่ ตราสารอันบรรจุไว้ซึ่งความตกลงที่มีความสำคัญรองลงมาจากสนธิสัญญา และอนุสัญญา
ที่มาข้อมูล: การสัมภาษณ์ นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ นางสาวอัจฉรา ไอยรากาญจนกุล เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ณ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ที่มารูปภาพ: https://www.thairath.co.th/media/dFQROr7oWzulq5FZXCeM4TGbIpRHUoZOw5JCJeR4LSY0fWiDCWgytIMDXUmp9KosNtn.webp
เรียบเรียงโดย ดร.วรรณฤดี ตั้งทรัพย์วัฒนา นักวิจัยศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา