CASPIM เข้าพบ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเพื่อเก็บข้อมูลวิจัย
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (CASPIM) นำโดย ดร.พิษณุ เหรียญมหาสาร ผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์ฯ, Prof.Dr.Tang Zhimin ผู้อำนวยการศูนย์ฯ, อาจารย์อรสา รัตนอมรภิรมย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ฯ และคณะ ได้รับเกียรติจาก นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ให้เข้าพบเพื่อสัมภาษณ์เก็บข้อมูลวิจัยโครงการยุทธศาสตร์การตลาดนําเพื่อการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดจีน รวมบริบทการแพร่ระบาด Covid-19
ในการนี้เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ให้ข้อมูลด้านการผลิตของผลไม้สำคัญที่ไทยส่งออกไปจีน 7 ชนิดหลัก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลําไย ลิ้นจี่ และมะม่วง โดยปี 2564 คาดว่าแนวโน้มการผลิตผลไม้ทั้ง 7 ของทั้งประเทศ ในภาพรวมมีปริมาณผลผลิต 4,850,991 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.18 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งผลผลิตในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกชนิด เนื่องจากสภาพอากาศ เอื้ออํานวยในการออกดอกและติดผล ประกอบกับราคาเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรบํารุงรักษาสวนผลไม้อย่างดี
เลขาธิการ สศก. แนะว่า เกษตรกรไทยต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าผลไม้ที่ส่งออกไป เนื่องจากผู้บริโภคจีนซื้อสินค้าผลไม้นําเข้าจากไทยในราคาสูง จึงต้องเน้นเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งควรเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคจีนรับรู้ข้อมูลระบบการตรวจสอบรับรองผลไม้ของไทยตั้งแต่สวนจนถึงมือ ผู้บริโภคด้วย ระบบ GAP/GMP
ทั้งนี้ CASPIM ได้รับมอบหมายจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ดำเนินการวิจัยโครงการยุทธศาสตร์การตลาดนําเพื่อการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดจีน รวมบริบทการแพร่ระบาด Covid-19 เพื่อศึกษาความต้องการ (Demand) ผลไม้ไทยในตลาดจีน ด้านขนาดตลาดและโครงสร้างของความต้องการผลไม้ไทย ความคาดหวังและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคจีนในรูปแบบใหม่ และนำไปสู่การกำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านกลยุทธ์การตลาดและกลยุทธ์การแข่งขันสำหรับกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อยกระดับศักยภาพการส่งออกผลไม้ไทยไปตลาดจีนให้สูงขึ้น
เรียบเรียง โดย ดร. วรรณฤดี ตั้งทรัพย์วัฒนา นักวิจัย ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา