ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Agreement: ACFTA) ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีนำเข้าในจีนได้ เนื่องจาก จีนและอาเซียนได้มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างกัน ส่งผลให้สินค้าบางรายการที่ส่งออกจากไทยไปจีนไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้า โดยในส่วนของผลไม้ไทยครอบคลุมผลไม้สดจำนวน 22 ชนิด ที่จีนอนุญาตให้นำเข้า ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยที่ต้องการใช้สิทธิลดภาษีนำเข้าจะต้องมีหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Form E) เพื่อใช้ประกอบการลดภาษีนำเข้าไปจีนเหลือร้อยละ 0 อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ใช้สิทธิประโยชน์เพื่อลดภาษีนำเข้านั้นยังคงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดิม
ปัจจุบันผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิภายใต้ ACFTA สูงถึงร้อยละ 80 ทั้งนี้ การขอ Form E ของผู้ส่งออกไทยสามารถวัดจำนวนการใช้สิทธิทางภาษีในการส่งออกผลไม้ไปจีนภายใต้ความตกลง ACFTA ได้ โดยในปี 2563 มีการใช้สิทธิในการส่งออกทุเรียนสด (HS 08106000000) สูงสุดคิดเป็นมูลค่า 1,569 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาเป็นการใช้สิทธิการส่งออกทุเรียนแช่แข็ง (HS 08119000002) คิดเป็นมูลค่า 175 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปัญหาการสวมสิทธิผลไม้ไทยจากผลไม้เวียดนามมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผลไม้ที่มีศักยภาพในการส่งออกของไทย คือ ทุเรียน ขนุน มะม่วง มังคุด เงาะ โดยเฉพาะทุเรียนที่กรมการค้าต่างประเทศได้ขึ้นบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวัง (Watch-List) เพื่อป้องกันการนำทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทยส่งออกไปจีน ด้วยการกำหนดมาตรการเข้มข้นด้วยการต้องยืนยันแหล่งที่มาก่อนการขอใช้สิทธิพิเศษทางการค้า ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจ การรักษาชื่อเสียงทุเรียนไทย และการให้ความเชื่อมั่นกับประเทศ คู่ค้า เนื่องจาก ปัจจุบันมีการนำเข้าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทยและส่งออกไปจีนจำนวนมาก ซึ่งทุเรียนที่ถูกสวมสิทธิ ประกอบด้วย ทุเรียนสด (Fresh Durain) พิกัดศุลกากร 0810.60 และทุเรียนแช่แข็ง (Frozen Durain) พิกัดศุลกากร 0811.90 โดยอาศัยการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า ด้วยใช้ไทยเป็นฐานการปลอมแปลงถิ่นกำเนิดสินค้า โดยส่งผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของทุเรียนไทย ดังนั้น เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยและป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิด กรมการค้าต่างประเทศได้ดำเนินการโดยกำหนดแนวปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองทุกประเภทสำหรับสินค้าทุเรียน ที่ผู้ยื่นขอหนังสือรับรองต้องระบุข้อความยืนยันแหล่งที่มาของทุเรียนในประเทศที่ขอรับหนังสือรับรองเพิ่มเติมลงในแบบขอรับการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิดเพื่อขอใช้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร (สินค้าพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 01-24) ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนในการพิจารณาออกหนังสือรับรองมีความเข้มงวดและรัดกุมยิ่งขึ้น
ที่มาข้อมูล: การสัมภาษณ์ กรมการค้าต่างประเทศ เมื่อ 23 ธันวาคม 2563 ณ กระทรวงพาณิชย์
https://gnews.apps.go.th/news?news=76206
ที่มารูปภาพ: https://cpo2000.com/2017/09/2748/
เรียบเรียงโดย สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัย ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา