คืบหน้าทางรถไฟทางด่วนจีน-ลาว เร่งเชื่อมโยงโอกาสสู่ไทย
เส้นทางรถไฟจีน–ลาว และทางด่วนเวียงจันทน์–บ่อเต็น เป็นโครงการหนึ่งภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ของสปป.ลาว จากประเทศไร้ทางออกสู่ทะเลให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงทางบก ซึ่งเมื่อเชื่อมโยงต่อกับประเทศไทยแล้ว จะช่วยสร้างโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของประเทศไทย
การคมนาคมสองเส้นทางนี้จะช่วยเคลื่อนย้ายคน และแรงงานได้เร็วขึ้น ส่วนนักลงทุนก็จะสามารถดำเนินธุรกิจในพื้นที่ต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพ ทางรถไฟนี้วิ่งผ่านสปป.ลาว ลาวกว่าสี่ร้อยกิโลเมตร ซึ่งจะเชื่อมต่อเมืองหลวงของสปป.ลาวกับจีน ไทย และประเทศบนคาบสมุทรอินโดจีน โดยสปป.ลาวหวังว่าทางรถไฟสายนี้จะช่วยเปลี่ยนภูมิศาสตร์ของประเทศจาก Land Lock สู่ Land Link นอกจากนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศให้แข็งแกร่งมากขึ้น ในอนาคตลาวจะเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งช่วยยกระดับโลจิสติกส์ และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามพื้นที่เส้นทางรถไฟ
สปป.ลาวมีความจำเป็นที่ต้องสร้างถนนเชื่อมทางรถไฟกับแหล่งผลิต เพื่อสะดวกในการขนส่งสินค้า รวมถึงต้องบูรณาการการขนส่ง และการบริการข้ามพรมแดนเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า ทั้งนี้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยดึงดูดการค้า และการลงทุน
ความคืบหน้าของการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน–ลาวนั้น เส้นทางจากเวียงจันทน์ไปหลวงพระบางได้มีการปูรางรถไฟแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 โดยเป็นส่วนหนึ่งของ ทางรถไฟสายเวียงจันทน์-บ่อเต็น เชื่อมต่อระหว่างด่านบ่อหาน มณฑลยูนนานของประเทศจีน กับด่านบ่อเต็นของสปป.ลาว ผ่านเมืองหลวงพระบาง และสิ้นสุดที่เวียงจันทน์ โดยจะเป็นทางรถไฟสายแรกใน สปป.ลาวที่จะเชื่อมให้สปป.ลาวมีหนทางออกสู่ทะเลโดยผ่านประเทศไทย ทางรถไฟจีน–ลาวสายนี้มีความยาวทั้งสิ้น 422 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างจากเมืองบ่อเต็นทางภาคเหนือของสปป.ลาวที่มีพรมแดนติดกับจีนไปยังเวียงจันทน์ ขบวนรถไฟที่จะวิ่งบนเส้นทางนี้จะแล่นในอัตราเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ส่วนความคืบหน้าของทางด่วนเวียงจันทน์ ได้เริ่มเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 โดยทางด่วนจีน-ลาว มีจุดเริ่มต้นในเวียงจันทน์และสิ้นสุดที่อำเภอบ่อเต็น บริเวณชายแดนสปป.ลาวถึงจีน มีความยาวประมาณ 440 กิโลเมตร ใช้มาตรฐานทางเทคนิคของจีนในการก่อสร้างและดำเนินงาน โดยแผนดำเนินการแบ่งออกเป็น 4 ระยะด้วยกัน การก่อสร้างระยะแรกคือทางด่วนช่วงเวียงจันทน์–วังเวียง (ระยะที่สองวังเวียง–หลวงพระบาง ระยะที่สามหลวงพระบาง–อุดมไช ระยะที่สี่อุดมไช–บ่อเต็น) มีความยาวประมาณ 110 กิโลเมตร พร้อมออกแบบความเร็วไว้ที่ 80-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ลงทุนโดยบริษัท อวิ๋นหนาน คอนสตรักชัน แอนด์ อินเวสต์เมนท์โฮลดิง กรุ๊ป จำกัด (YCIH) ร้อยละ 95 และรัฐบาลสปป.ลาวร้อยละ 5 โดยดำเนินการภายใต้รูปแบบสร้าง-โอนให้-ให้บริการ (BOT) เป็นระยะเวลา 50 ปี
การก่อสร้างทางด่วนช่วงเวียงจันทน์–วังเวียง ก้าวผ่านอุปสรรคนานัปประการ โดยเฉพาะผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ทางด่วนนี้จะลดทอนเวลาการเดินทางจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังเมืองท่องเที่ยววังเวียงจากเดิม 3.5 ชั่วโมงเหลือเพียง 1 ชั่วโมง
หลังก่อสร้างแล้วเสร็จ ทางด่วนจีน–ลาว จะกลายเป็นกระดูกสันหลังของการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ตอนกลาง และตอนเหนือของลาว ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในสปป.ลาวอีกทั้งจะช่วยเร่งการสร้างเครือข่ายการขนส่งเร่งด่วนอันครอบคลุมคาบสมุทรอินโดจีนทั้งหมด
เชื่อมโยงโอกาสสู่ประเทศไทย
ทั้งเส้นทางรถไฟ และทางด่วนจีน–ลาวเมื่อแล้วเสร็จ จะเปิดใช้งานเชื่อมต่อการเดินทางมายังประเทศไทยด้วย ซึ่งจะทำให้การสัญจรระหว่างจีน สปป.ลาว และไทย มีความคล่องตัวมากขึ้น ที่สำคัญจะก่อให้เกิดการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ พื้นที่โดยรอบถนน และรางรถไฟ นำไปสู่การพัฒนาเมืองแห่งใหม่ เกิดการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และระบบโลจิสติกส์ที่มีต้นทุนถูกลง
ด้านการค้า ไทยมีโอกาสจะส่งออกสินค้าไปสปป.ลาว และจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค บริโภค รวมถึงผลไม้สดและแปรรูป ขณะเดียวกันสินค้าจากจีนที่จะเข้ามาปริมาณมากขึ้น เป็นโอกาสให้ไทยสามารถใช้สินค้าจากจีนที่มีต้นทุนต่ำมาผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้อีก ธุรกิจไทยสามารถลงทุน ขยายธุรกิจ และผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงในสปป.ลาว เพื่อขยายฐานการค้าในสปป.ลาว และส่งออกไปยังจีนตอนใต้ เช่น สินค้าสุขภาพ สินค้าออร์แกนิก สินค้าเกษตรแปรรูป เป็นต้น
ส่วนด้านการท่องเที่ยวนั้น เส้นทางคมนาคมสองสายนี้จะผ่านสถานที่ท่องเที่ยวหลายจุดในสปป.ลาว เช่น หลวงพระบาง วังเวียง และเวียงจันทน์ ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทางตอนใต้ของจีน โดยเฉพาะจากมณฑลยูนนานมาเที่ยวได้มากขึ้น ช่วยให้เศรษฐกิจของสปป.ลาวคึกคักมากยิ่งขึ้นด้วย เช่นเดียวกับประเทศไทยบริเวณจังหวัดที่เชื่อมต่อกับสปป.ลาวก็จะได้ผลประโยชน์ไปด้วย แม้ว่าทางรถไฟจะเชื่อมต่อกับสปป.ลาวที่จังหวัดหนองคาย แต่จะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้จังหวัดอุดรธานีกลายเป็นฮับใหญ่ในเรื่องศูนย์กลางการท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ ในการเชื่อมต่อรับนักท่องเที่ยวจีนจากสปป.ลาวสู่ไทย ก่อให้เกิดห่วงโซ่ธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน อาทิ ธุรกิจบริการและการโรงแรม
เส้นทางคมนาคมที่สะดวกขึ้นจากทางรถไฟ และทางด่วนจีน-ลาว ไม่เพียงก่อเกิดผลประโยชน์ให้แก่สองประเทศนี้เท่านั้น แต่การเชื่อมโยงเข้ากับเส้นทางคมนาคมของประเทศไทย ด้านหนึ่งช่วยให้จีนตอนใต้ และสปป.ลาวมีทางออกสู่ทะเล ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งช่วยให้ไทยเข้าถึงพื้นที่ และตลาดของจีนตอนใต้ รวมถึงสปป.ลาวด้วย หรือแม้กระทั่งเกิดเป็นระเบียงเศรษฐกิจจีน–ลาว–ไทยในอนาคต ไทยจึงควรเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถคว้าโอกาสจากเครือข่ายการคมนาคมที่จะเกิดขึ้น
ที่มารูปภาพ https://livinginasia.co/vientiane-boten-railway/ เส้นทางรถไฟจากจีนสู่ไทย
ที่มาข้อมูล
http://www.xinhuanet.com/english/2021-01/05/c_139643254.htm
https://www.posttoday.com/world/634502
http://gpj.mofcom.gov.cn/article/zuixindt/201711/20171102672885.shtml
https://cn.chinadaily.com.cn/a/202012/29/WS5feae43fa3101e7ce97381b1.html
https://www.xinhuathai.com/inter/154692_20201120#
https://www.xinhuathai.com/inter/162301_20201221
http://www.xinhuanet.com/english/2020-12/23/c_139613700.htm
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article17Sep2019.aspx
เรียบเรียงโดย ดร.วรรณฤดี ตั้งทรัพย์วัฒนา เจ้าหน้าที่อาวุโส (นักวิจัย) ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา