“วัชมนฟู้ด” บริษัทที่โด่งดังแห่งวงการส่งออก-นำเข้าผลไม้ ทั้งยังเป็นผู้ประกอบการรายแรกๆ ของไทยที่ส่งออกผลไม้ไปประเทศจีน ด้วยเป้าหมายอันแน่วแน่ของประธานกรรมการบริษัทอย่าง คุณวัชรี จียาศักดิ์ ที่อยากให้คนต่างชาติได้ลิ้มลองรสชาติความอร่อยของผลไม้ไทย กอปรกับการค่ำหวอดอยู่ในวงการเกษตรและผลไม้ มาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานจึงได้เริ่มจากการส่งออกแตงโม ลำไย ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง รวมถึงผลไม้ชนิดอื่นๆ ไปยังประเทศจีน
กว่าจะกลายมาเป็น “เจ๊วัชรี” แห่ง “วัชมนฟู้ด” ผู้นำเข้า-ส่งออกผลไม้รายใหญ่เช่นทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ย้อนกลับไปในอดีต คุณวัชรีเป็นผู้บุกเบิก “แตงโมจินตรา” ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรในยุคนั้นไม่น้อย แต่เนื่องจากขายขาดทุนไม่พอค่าขนส่ง จึงคิดที่จะส่งออกไปยังฮ่องกงเพื่อเพิ่มรายได้ นั่นเป็นก้าวเล็กๆ สำคัญที่ทำให้คุณวัชรีเริ่มต้นทำธุรกิจการส่งออกผลไม้ไทยไปต่างประเทศ ผลตอบรับจากการขายแตงโมในฮ่องกงนั้นค่อนข้างดี เนื่องจากมีการส่งขายให้กับห้างสรรพสินค้า อาทิ Welcome, di Malo, Tesco เป็นต้น หลังจากนั้นจึงได้เริ่มส่งออกทุเรียนราชาแห่งผลไม้ของไทยไปยังฮ่องกง
เมื่อธุรกิจการส่งออกผลไม้ไปฮ่องกงไปได้สวย จึงต่อยอดส่งออกไปยังประเทศจีน อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลไม้ไปประเทศจีนนั้นมีสิ่งที่ต้องปรับตัวเช่นกัน เนื่องจากจีนมีกฎระเบียบควบคุณภาพผลไม้นำเข้าที่เข้มงวดซึ่งผู้ส่งออกทุกคนต้องปฏิบัติตาม อาทิ การผลิตทุเรียนที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) ซึ่งในทางปฏิบัติด้านการควบคุมคุณภาพทุเรียนให้ได้มาตรฐาน GAP นั้นไม่ง่ายนัก ดังนั้นคุณวัชรีจึงได้ไปขอพื้นที่กับคนรู้จักเพื่อทำสวนทุเรียนสำหรับส่งออก เนื่องจากการมีสวนเป็นของตนเองจะสามารถควบคุมคุณภาพของผลผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐาน GAP ได้ง่ายกว่าการรับซื้อจากสวนอื่นๆ
อีกทั้งแม้จะมีสวนที่ควบคุมได้ตามมาตรฐานแล้ว แต่ยังต้องประสบกับปัญหาเรื่องการรับซื้อทุเรียน ยกตัวอย่างเช่น ทุเรียนที่ชาวสวนนำมาขายนั้นสามารถคัดเกรดให้ตรงตามมาตรฐานได้เพียงร้อยละ 40-50 เท่านั้น ส่วนทุเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานจะถูกคัดออกและไม่รับซื้อ ทั้งนี้ เจ้าของสวนจึงจำเป็นจะต้องนำทุเรียนส่วนที่ถูกคัดออกเหล่านั้นไปเร่ขายในตลาดภายในประเทศแหล่งอื่นๆ ต่อไป ซึ่งเพิ่มความยากลำบากให้แก่บรรดาเจ้าของส่วน
ขณะที่มีล้งจีนบางรายที่เป็นผู้ส่งออกทุเรียนไปประเทศจีนเองด้วย จะใช้วิธีรับซื้อทุเรียนจากชาวสวนทั้งหมดโดยไม่คัดเกรดหรือขนาด แต่รับซื้อแบบเหมาทั้งสวนในราคาที่ถูกกว่า จึงทำให้ชาวสวนนิยมนำผลผลิตไปขายให้กับล้งจีนมากกว่า ซึ่งเป็นผลดีกับชาวสวนที่ไม่ต้องนำทุเรียนไปเร่ขายในที่อื่นๆ อีก
ทั้งนี้ ล้งจีนมีต้นทุนที่ถูกกว่าผู้ประกอบการไทยเพราะรับซื้อจากชาวสวนมาในราคาที่ถูกกว่า และแม้ว่าผู้ประกอบการไทยจะรับซื้อทุเรียนในราคาที่แพงกว่าล้งจีน แต่เมื่อทุเรียนไปถึงประเทศจีนแล้วก็ต้องขายในราคาเดียวกันทั้งหมดไม่ว่าจะมีต้นทุนต่างกันเท่าไหร่ก็ตาม ซึ่งเป็นข้อเสียเปรียบด้านการแข่งขันประการหนึ่งของผู้ส่งออกผลไม้ไทยไปจีน นอกจากนี้ชาวจีนยังนิยมทำธุรกิจกับคนจีนด้วยกันเองอีกด้วย
จากปัญหาหลายๆ ด้านที่กล่าวมานั้น จึงทำให้ปัจจุบันวัชมนฟู้ด เลิกส่งออกผลไม้ไทยไปจีน และผันตัวเป็นผู้นำเข้าผัก-ผลไม้รายใหญ่ของประเทศไทยแทน โดยจะนำเข้าผลไม้ยอดนิยมจากต่างประเทศ อาทิ สตรอว์เบอร์รี เชอร์รี บลูเบอร์รี กีวี แอปเปิล ทับทิม องุ่น สาลี่ ฯลฯ แล้วนำมาคัดใส่บรรจุภัณฑ์ใหม่เพื่อส่งให้กับห้างสรรพสินค้าหรือห้าง Modern trade ชั้นนำในประเทศไทย
“วัชมนฟู้ด” จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ในวงการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนนั้น ต่อให้เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ก็ยังมีสิทธิที่จะพ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจีนรายใหม่ได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงขึ้นอยู่กับการปรับตัวรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ รวมทั้งการปรับกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะสมกับกฎระเบียบและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
ที่มาข้อมูล: การสัมภาษณ์ คุณวัชรี จียาศักดิ์ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ณ ที่ทำการบริษัทวัชมนฟู้ด
ที่มารูปภาพ: คณะวิจัย
เรียบเรียงโดย กัญญาพร แปลนสันเทียะ ผู้ช่วยนักวิจัยศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา