จีนอนุญาตให้มีการนำเข้าผลไม้ไทยจำนวน 22 ชนิด ขณะที่ไทยอนุญาตให้นำเข้าจากจีน 24 ชนิด โดยผู้ส่งออกผลไม้ต้องปฏิบัติตามพิธีสาร ดังนี้
1) พิธีสารว่าด้วยข้อกําหนดด้านการกักกันโรคและตรวจสอบสําหรับสินค้าผลไม้เมืองร้อนที่ส่งออกจากไทยไปจีน ปี 2547 ประกอบด้วย มะม่วง ทุเรียน ลำไย มังคุด ลิ้นจี่ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าผลไม้ต้องมาจากสวนที่ได้ขึ้นทะเบียน GAP (Good Agricultural Practices) และโรงคัดบรรจุได้รับการขึ้นทะเบียน GMP (Good Manufacturing Practice)
2) พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรการสุขอนามัยพืชสำหรับผลชมพู่สด ปี 2558
3) พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการนำเข้าและส่งออกผลไม้ ผ่านประเทศที่สาม ปี 2552 โดยการขนส่งตามพิธีสารฉบับนี้รถสามารถวิ่งไปจีนตามเส้นทางใดก็ได้ แต่รถต้องเข้า-ออกตามด่านที่ทั้งสองประเทศได้ตกลงกันเท่านั้น โดยด่านฝ่ายไทย ประกอบด้วย เชียงของ บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร จันทบุรี ส่วนด่านฝ่ายจีน ประกอบด้วย โม่ฮาน โหย่วอี้กว่าน ตงชิง ผิงเสียง
ทั้งนี้ ผลไม้ส่งออกไปจีนอีก 16 ชนิดที่ยังไม่มีพิธีสารจากทั้งหมด 22 ชนิด เป็นผลไม้ที่มีการค้าแบบดั้งเดิม ดังนั้นจีนจึงอนุญาตให้ไทยสามารถส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง
อนึ่ง การส่งออกผลไม้ไทยไปจีนในส่วนของฝ่ายไทยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ดังนี้
- สวน
ในปี 2562 ไทยและจีนมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุของผลไม้นำเข้า-ส่งออกระหว่างกันที่ครอบคลุมการขนส่งทางบก อากาศ เรือ โดยผลไม้ไทย มี ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด และมะม่วง ส่วนผลไม้จากจีน มี แอปเปิ้ล แพร์ องุ่น พุทราและพืชสกุลส้ม (ส้ม ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และเลม่อน) ซึ่งต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน โดยกำหนดให้ผลไม้ต้องมาจากสวนที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GAP ทั้งจากกรมวิชาการเกษตรและสำนักงานศุลกากรของจีน (GACC) แล้วเท่านั้น และในปี 2563 กรมวิชาการเกษตรได้จัดส่งข้อมูลสวนผลไม้ไทยให้จีนขึ้นทะเบียนและประกาศในเว็บไซต์ของ GACC เพิ่มอีก 4 ชนิด คือ กล้วย มะพร้าว สับปะรด และขนุน ส่วนผลไม้ฝ่ายจีน 5 ชนิด ประกอบด้วย พลับ เมล่อน พลัม ท้อ และเนคทารีน ส่วนผลไม้จำนวนที่เหลือจากทั้งหมด 22 ชนิด ที่จีนอนุญาตให้นำเข้าจากไทยจะมีการทยอยแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนสวนผลไม้ต่อไป
อีกทั้ง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรในการรับรองมาตรฐานสวน กรมวิชาการเกษตรจึงมอบหมายให้หน่วยรับรอง (Certification Body: CB) ซึ่งเป็นภาคเอกชนเข้ามามีอำนาจหน้าที่ในการตรวจรับรองมาตรฐานสวนเพิ่มเติม ประกอบด้วย 4 บริษัท อาทิ สถาบันรับรองระบบการผลิตผลิตภัณฑ์การเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้, Tuv-nord, Central Lab Thai, เพื่อออกใบรับรองให้เกษตรกรนำไปยื่นที่กรมวิชาการเกษตรเพื่อให้ออกใบรับรองที่มีการระบุหมายเลขทะเบียนสวน (รหัส AC)
- โรงคัดบรรจุ
จากการที่ไทยและจีนมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนสวนผลและโรงคัดบรรจุในปี 2562 โดยผลไม้ที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสวนแล้วดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้โรงคัดบรรจุผลไม้ดังกล่าวก็ต้องได้รับการขึ้นทะเบียน GMP ทั้งจากกรมวิชาการเกษตรและสำนักงานศุลกากรของจีน (GACC) เช่นเดียวกัน
กรมวิชาการเกษตรมอบหมายให้ CB เข้ามามีอำนาจหน้าที่ในการตรวจรับรองมาตรฐานโรงคัดบรรจุ ประกอบด้วย 14 บริษัท อาทิ Tuv-nord, Central Lab Thai จะออกใบรับรองให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ เพื่อนำไปยื่นที่กรมวิชาการเกษตรให้ออกใบรับรองหมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ (รหัส DOA)
- ผู้ส่งออก
ผู้ส่งออกผลไม้ไทยไปจีนต้องขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกผักและผลไม้กับกรมวิชาการเกษตรตามประกาศกรมวิชาการเกษตรปี 2553
สำหรับเงื่อนไขในการนําเข้าและส่งออกผลไม้สดระหว่างไทยและจีนพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการนำเข้าและส่งออกผลไม้ ผ่านประเทศที่สาม ปี 2552 ดังนี้
- รายการชนิดของผลไม้สดที่อนุญาตให้นําเข้าและส่งออกเป็นไปตามที่ทั้งสองฝ่ายกําหนดโดยผลไม้ไทยจํานวน 5 ชนิด คือ มะม่วง ทุเรียน ลําไย ลิ้นจี่ มังคุด และชมพู่ ผลไม้จีน จํานวน 5 ชนิด คือ แอปเปิ้ล แพร์ องุ่น พุทรา และสกุลส้ม (ส้ม ส้มเขียวหวาน ส้มโอ และเลม่อน) จะต้องมาจากสวนและโรงคัดบรรจุที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและประกาศโดยกรมวิชาการเกษตร และ GACC แล้วเท่านั้น
- ฉลากบรรจุภัณฑ์ผลไม้สดทุกชนิดต้องเป็นไปตามที่กําหนด โดยผลไม้ไทย ประกอบด้วย มะม่วง ทุเรียน ลําไย ลิ้นจี่ มังคุด และชมพู่ ต้องระบุหมายเลขทะเบียนสวน (รหัส AC หรือ TG เฉพาะทุเรียน) และหมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ (รหัส DOA) ตามที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและประกาศในเว็บไซต์ของ GACC แล้ว ส่วนผลไม้ชนิดอื่นที่เหลือยังไม่ต้องระบุหมายเลขทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุจนกว่าจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนและประกาศในเว็บไซต์ของ GACC นอกจากนี้ ซีลปิดตู้สินค้าต้องเป็นไปตามรูปแบบที่กําหนด
- ใบรับรองสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) ตามประกาศของกรมวิชาการเกษตรปี 2551 สําหรับการนําเข้าและส่งออกผลไม้ระหว่างไทย-จีน ทางบกตามพิธีสารว่าด้วยข้อกําหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสําหรับการส่งออกและนําเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สาม ประกอบด้วย ใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phytosanitary Certificate : PC) เป็นการออกให้ผู้ส่งออกที่ต้องการขอให้ทางราชการรับรองว่าพืชและผลิตผลพืชที่ส่งออกนั้นปลอดศัตรูพืช ใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) เป็นการตรวจรับรองสารพิษตกค้าง อีกทั้ง ต้องระบุหมายเลขตู้สินค้าและหมายเลขซีลทุกครั้งของการส่งออก มะม่วง ทุเรียน ลําไย ลิ้นจี่ และมังคุด ให้ระบุหมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุรหัส DOA ชมพู่ให้ระบุหมายเลขสวนรหัส AC (จำนวนกล่อง/ตะกร้า) และหมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุรหัส DOA ส่วนผลไม้ 16 ชนิดที่ที่เหลือยังไม่ต้องระบุหมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ รหัส DOA จนกว่าจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนและประกาศในเว็บไซต์ของ GACC
หมายเหตุ
TG หรือ มาตรฐาน ThaiGAP คือ มาตรฐานระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยของภาคเอกชน ภายใต้การดำเนินงาน สถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย (ThaiGAP Institute หรือ สถาบัน ThaiGAP) ด้วยความร่วมมือของ 3 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันอาหาร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ที่มาข้อมูล: การสัมภาษณ์ คุณช่อทิพย์ ศัลยพงษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มบริการส่งออกสินค้าเกษตร และ คุณนพรัตน์ บัวหอม นักวิชาการเกษตร ระดับชำนาญการ กลุ่มบริการส่งออกสินค้าเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563
ที่มารูปภาพ: https://thaiembdc.org/2020/01/07/thailand-now-worlds-sixth-largest-exporter-of-fruits/
เรียบเรียงโดย สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัยศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา