พื้นที่ปลูกทุเรียนของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากทุเรียนเป็นสินค้าเกษตรที่มีระดับราคาและผลตอบแทนสุทธิเพิ่มสูงต่อเนื่อง ผลผลิตทุเรียนของไทยส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หมอนทองอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ชุมพร และสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยทุเรียนในสามจังหวัดชายแดนใต้ให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำสุด ส่วนพื้นที่ที่มีผลผลิตต่อไร่สูงสุด คือ จังหวัดจันทบุรี จึงทำให้ผู้รับซื้อทุเรียนสด (ล้ง) ในจังหวัดจันทบุรีมีมากถึง 600 ล้งประเภทของทุเรียนที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่เป็นทุเรียนผลสด (ร้อยละ 95) ที่เหลือเป็นการแปรรูปแบบแช่เย็นแช่แข็งและอื่นๆ(ร้อยละ 5) ตลาดส่งออกทุเรียนผลสดที่สำคัญของไทย คือ ตลาดจีน (ร้อยละ 77) ซึ่งสายพันธุ์ทุเรียนไทยที่คนจีนชื่นชอบเป็นพิเศษ คือ ทุเรียนหมอนทอง เพราะรสชาติหวานมัน และราคาจับต้องได้
การเข้ามาทำธุรกิจทุเรียนของผู้ประกอบการจีนในไทยเริ่มเข้ามาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้วแต่เร่งขยับตัวมากขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รูปแบบธุรกิจเริ่มต้นในธุรกิจกลางน้ำและปลายน้ำ โดยผู้ประกอบการจีนจะรับซื้อทุเรียนผลสดจากเกษตรกรโดยไม่ผ่านคนกลาง จากนั้นจะทำการตลาดและจัดจำหน่ายในประเทศจีนต่อไปอาทิ ส่งต่อไปยังห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านของตัวเอง เป็นต้น ยกตัวอย่าง “ไป๋กั่วหยวน (Pagoda)” บริษัทดำเนินธุรกิจจำหน่ายผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจีนที่มีสาขากว่า 4,000 สาขา ทั่วประเทศก็เข้ามารับซื้อทุเรียนผลสดและทำตลาดในประเทศจีนเอง หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ผู้ประกอบการจีนเข้ามารับซื้อทุเรียนสดโดยตรงกับเกษตรกร เนื่องจากผู้ประกอบการจีนมองว่าการรับซื้อทุเรียนจากคนกลางที่บวกค่าดำเนินการแล้ว เมื่อนำขายปลีกให้กับผู้บริโภคในประเทศจีนแล้วปรากฎว่าไม่คุ้มค่าหากพิจารณาหลักการดังกล่าวจะเห็นว่า การซื้อขายโดยตรงนั้นส่งผลดีกับเกษตรกร (ผู้ประกอบการจีนหาตลาดให้)รวมทั้งยังเกิดการจ้างงานและการลงทุนในพื้นที่ แต่ก็มีผลเสียคือ ผู้รับซื้อทุเรียนสด (ล้ง) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจีนจะเป็นผู้กำหนดและแจ้งราคาที่ต้องการรับซื้อในแต่ละวัน จึงอาจส่งผลทำให้ไทยมีอำนาจในการต่อรองต่ำและนำไปสู่ผลกระทบกับเกษตรกรต่อไปในอนาคต
อนาคตของทุเรียนไทย คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น จากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่
1. ความต้องการบริโภคทุเรียนแบบก้าวกระโดดโดยเฉพาะตลาดจีนที่มีผู้บริโภคทุเรียนกว่า 170 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมด 1,400 ล้านคน) จึงถือว่าจีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มากและมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับผลไม้อย่างทุเรียน
2. ประเทศคู่แข่งยังไม่ได้สิทธิส่งออกทุเรียนสดไปจีนถาวรเหมือนไทย
3. คุณภาพทุเรียนเวียดนามยังสู้กับทุเรียนหมอนทองไทยไม่ได้ ส่วนทุเรียนMusang King ของมาเลเซียมีราคาสูงกว่าทุเรียนไทย (3-4 เท่า) จึงทำให้มีตลาดค่อนข้างจำกัด
4. การเก็บเกี่ยวทุเรียนพันธุ์ Musang King คือ ต้องรอให้ผลทุเรียนสุกคาต้นแล้วหล่นลงมาเอง ซึ่งอาจมีเศษดินเศษใบไม้ และแมลงศัตรูพืชปนเปื้อนไปกับทุเรียน จึงทำให้ทุเรียนมาเลเซียมีข้อจำกัดเรื่องกักกันโรคพืชจากข้อกำหนดการนำเข้าของทางการจีน
5. เริ่มมีการตั้งโรงงานแปรรูปทุเรียนให้ประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยรองรับผลผลิตและช่วยพยุงราคาในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก
6. ประเทศไทยอาจจะได้ประโยชน์จากการส่งออกผักผลไม้ไปจีนจากเส้นทางรถไฟจีน-ลาวที่จะช่วยลดต้นทุนและประหยัดเวลา อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของข้อมูลเกี่ยวกับระบบการขนส่งและคลังสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) ของรถไฟสายดังกล่าว
ความเสี่ยงและความท้าทายของทุเรียนไทย
1. การแข่งขันในตลาดจีนทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น เวียดนามกำลังพัฒนาสายพันธุ์หมอนทองให้ดีขึ้น มาเลเซียลดพื้นที่ผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกทุเรียน
2. ประเทศไทยพึ่งพาความต้องการจากตลาดจีนเป็นหลัก
3. ในตลาดจีนถือว่าทุเรียน “Musang King” เป็นสินค้าระดับพรีเมียมจนได้รับการขนานนามว่าเป็น Hermès ในวงการทุเรียน แม้ว่าราคาทุเรียนMusang King จะมีระดับราคาที่สูงมากกว่าทุเรียนสายพันธุ์อื่นๆ แต่ด้วยเศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้นเรื่อยๆส่งผลให้มีกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยและที่สำคัญพฤติกรรมการบริโภคทุเรียนของชาวจีนที่นิยมบริโภคทุเรียนแบบสุกมากกว่าที่จะรอให้สุกหรือเพิ่งสุกแบบทุเรียนไทย รวมทั้งความโดดเด่นของทุเรียนMusang Kingที่มีรสชาติหวานปนขม ลักษณะเนื้อทุเรียนสีเหลืองทองและเป็นเนื้อครีมละมุน จึงทำให้ผู้บริโภคชาวจีนที่มีรายได้สูงพร้อมจ่ายเงินเพื่อแลกกับของดีมีคุณภาพ
4. การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทย หลายประการ ได้แก่
– แรงงานต่างชาติเข้าประเทศไทยไม่ได้ ทำให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้ล่วงหน้า โดยเฉพาะฤดูเก็บเกี่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออก เมื่อผลผลิตออกมาพร้อมกันแล้วแรงงานไม่เพียงพออาจจะส่งผลทำให้ผลผลิตเสียหายได้
– ปัญหาเรื่องตู้คอนแทนเนอร์ไม่เพียงพอ ซึ่งหากไม่มีการรับมือล่วงหน้าจะส่งผลทำให้ช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวทุเรียนเกิดปัญหา คือ ไม่สามารถส่งออกทุเรียนผลสดได้ นำไปสู่ปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาผลผลตกต่ำ
– ปัจจุบันด่านชายแดนจีนมีการตรวจสอบสินค้านำเข้าอย่างเข้มข้นทำให้การส่งสินค้าเกิดความล่าช้า (รอตรวจที่ด่านใช้เวลานานสุด 3 วัน) ซึ่งส่งผลต่อการกระจายสินค้าเกษตรในประเทศจีนและการหมุนเวียนของรถบรรทุกสินค้าที่จะกลับมารับสินค้าจากไทยในรอบถัดไป
ที่มารูปภาพ: https://www.freshplaza.com/article/9138779/exports-of-mon-thong-durian-from-thailand-to-china-grow-every-year/
ที่มาข้อมูล:
– สัมภาษณ์ ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร ผู้เชี่ยวชาญโซ่อุปทานด้านเกษตร CLMV และอุปนายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร, วันที่ 17 ธันวาคม 2563
– สัมภาษณ์ คุณจอมพงษ์ โตมงคล (ผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่และเจ้าของล้งทุเรียน), วันที่ 17 ธันวาคม 2563
– เขย่าเก้าอี้แชมป์ส่งออกทุเรียนไทย มาเลย์ส่ง Musang King ล็อตแรกเข้าจีนแล้วสืบค้นเมื่อ 24 ธ.ค. 63 จากhttps://thaibizchina.com/เขย่าเก้าอี้แชมป์ส่งออ/
– ทุเรียนไทย จะรุ่งหรือจะร่วง?สืบค้นเมื่อ 24 ธ.ค. 63 จาก https://www.prachachat.net/finance/news-373467
เรียบเรียงโดย: ณัฐพัชร์ อภิรุ่งเรืองสกุล อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์