กว่า 25 ปีมาแล้วที่ตลาดไทเปิดทำการค้าขาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตลาดกลางให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้มีช่องทางการแลกเปลี่ยนสินค้าทางการเกษตรได้อย่างเสรี ด้วยราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม
ตลาดไทเป็นศูนย์กลางการค้าขายสินค้าเกษตรครบวงจร เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย รวมถึงเกษตรกรที่ต้องการซื้อและขายสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ บนเนื้อที่ 542 ไร่ มีผู้ค้าในตลาดประมาณ 3,500 ราย มีสินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาด 12,000 ตันต่อวัน มูลค่าการค้าขายต่อวันกว่า 500 ล้านบาท ทั้งนี้ ตลาดไทสามารถสนับสนุนเกษตรกรในด้านการกระจายสินค้าได้มากถึง 200,000 คน
ผู้ค้าส่วนใหญ่ในตลาดไทเน้นการขายส่ง การขายในปริมาณมาก ซึ่งลูกค้าหลักเป็นกลุ่มพ่อค้า แม่ค้ารายย่อย รถเร่ ที่ซื้อสินค้าเพื่อไปขายปลีก อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการขายเพื่อส่งจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า เช่น บิ๊กซี โลตัส แม็คโคร เป็นต้น การส่งออกผลไม้ไปจีนเมื่อเทียบสัดส่วนปริมาณสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่เข้าตลาดไทมีเพียงร้อยละ 10 โดยเป็นการส่งออก น้อยหน่า มะม่วง ลำไย มังคุด เป็นหลัก
ตลาดไทไม่ได้มีเพียงการค้าขายภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีการนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายอีกด้วย ซึ่งอยู่ในพื้นที่ลานตลาดนานาชาติที่อนุญาตให้ผู้ค้าชาวจีนสามารถนำรถขนตู้คอนเทนเนอร์มาจอดจำนวน 82 ช่องจอด เพื่อทำการต่อสายอุปกรณ์ไฟฟ้าเครื่องทำความเย็นผลไม้นำเข้าเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ซื้อ เนื่องจาก ในบางช่วงผลไม้ไทยมีน้อยส่งผลไห้ผู้ซื้อบางรายอาจซื้อผลไม้นำเข้าทดแทน อาทิ องุ่น พุทราจีน แอปเปิล
ตลาดไทเล็งเห็นถึงการช่วยผู้ค้าในการส่งออก กล่าวคือ ในช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคม ลานนานาชาติจะว่าง เนื่องจาก ไม่มีตู้คอนเทนเนอร์จากจีนเข้ามาจอดทำให้สามารถใช้พื้นที่นี้ใช้สำหรับรวบรวมผลไม้ ซึ่งเป็นผลดีแก่เกษตรกรไทยในการเพิ่มอำนาจด้านการต่อรองราคาเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้ เป็นเพียงแผนพัฒนาในอนาคต
ผู้ค้าในตลาดไทเป็นคนไทยทั้งหมด บางรายอาจมีการจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล ด้วยกฎหมายไทยที่ห้ามมิให้ต่างด้าวถือหุ้นเกินร้อยละ 49 ดังนั้น ผู้ค้าอาจมีการร่วมหุ้นกับชาวจีนที่เข้ามาในลักษณะของการเป็นตัวแทน (nominee) นอกจากนั้น ยังมีบริษัทที่เปิดเป็นห้องเย็นอื่นๆ อยู่บริเวณรอบนอกของตลาดไทซึ่งเป็นธุรกิจนำเข้าและส่งออกผลไม้ ซึ่งบริษัทห้องเย็นเหล่านี้ก็มีการติดต่อกับผู้ค้าในตลาดไทเพื่อให้คัดเกรด คัดขนาดของผลไม้ รวมถึงการบรรจุสินค้าเพื่อส่งออกต่างประเทศด้วยเช่นกัน
การกำหนดราคาสินค้าในตลาดไท ผู้ค้าจะเป็นผู้กำหนดราคาเอง ทั้งนี้ เป็นไปตามกลไกตลาด หากร้านไหนขายแพงมากกว่าร้านอื่นส่งผลให้ไม่มีลูกค้า อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดราคาสินค้า คือ อุปสงค์และอุปทาน เช่น ช่วงฤดูทุเรียน ทุเรียนหมอนทอง เกรด A ราคาอยู่ที่ประมาณ 80-100 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อหมดหน้าทุเรียนแล้วราคาสูงขึ้นถึงกิโลละ 150-160 บาท แต่คุณภาพและรสชาติไม่ดีเท่าในช่วงฤดูทุเรียน แต่ราคาสูงเนื่องจากมีสินค้าจำนวนน้อย ทั้งนี้ ทางตลาดไทมีการประกาศราคาสินค้าต่างๆ ไว้บนหน้าเว็ปไซต์ ซึ่งได้มาจากการสุ่มสำรวจจากแผงที่ตลาด
การที่เกษตรกรนิยมส่งผลไม้ไปขายที่จีนย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดกลาง กล่าวคือ หากมีการส่งออกเป็นจำนวนมากอาจจะไม่มีผลไม้ชนิดนั้นเข้าสู่ตลาดกลางเพื่อค้าขายภายในประเทศ โดยเฉพาะผลไม้เด่นๆอย่างทุเรียนนับว่าเป็นผลไม้ที่มีมูลค่าสูง หากส่งออกเกษตรกรจะได้ราคาที่ดีกว่าการขายในประเทศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทางตลาดไทต้องหาวิธีแก้ไข เนื่องจาก ตลาดไทเป็นธุรกิจให้เช่าพื้นที่ค้าขาย หากไร้ซึ่งผู้เช่าแล้ว ตลาดไทอาจจะประสบปัญหาเนื่องจากผู้เช่าแผงในตลาดลดลง ทั้งนี้ ทางตลาดจึงมีมาตรการเพื่อช่วยพยุงผู้ค้าในตลาด เช่น การช่วยหาผู้ซื้อมาให้ การลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกร เพื่อนำมาศึกษาและพัฒนาศักยภาพตลาดให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติต่อไป
ที่มาข้อมูล: การสัมภาษณ์ คุณพรสลา คงเหมาะ ผู้จัดการฝ่ายขายและคณะ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ณ ที่ทำการตลาดไท
ที่มารูปภาพ: คณะวิจัย
เรียบเรียงโดย กัญญาพร แปลนสันเทียะ ผู้ช่วยนักวิจัยศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา