ท่ามกลางเหตุปัจจัยที่ซับซ้อนหลายประการ ทั้งการแพร่ระบาดอย่างยืดเยื้อของโรคโควิด-19 จนทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกเกิดการชะงักงัน การดำเนินนโยบายหันหลังให้กับความร่วมมือแบบ “พหุภาคี” ของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ รวมทั้งกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์นั้น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งใช้เวลาเจรจาถึง 8 ปีได้บรรลุข้อตกลงและมีพิธีลงนามเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 63 นับเป็นจุดเริ่มต้นของเขตการค้าเสรีที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก มีโครสร้างสมาชิกที่หลากหลายที่สุด มีขนาดเศรษฐกิจการค้าที่ใหญ่ที่สุด และมีศักยภาพการพัฒนาสูงที่สุดในโลก
ปัจจุบัน สมาชิกของความตกลง RCEP มีทั้งหมด 15 ประเทศ ประกอบด้วย 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และไทย รวมทั้ง ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
# ความตกลง RCEP เตรียมแซงหน้า NAFTA และ EU
เมื่อ RCEP มีผลใช้บังคับในอนาคตอันใกล้นี้ จะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกทั้งในเชิงจำนวนประชากร ขนาดเศรษฐกิจ และมูลค่าการค้า ซึ่งจะมีอิทธิพลเทียบเท่าหรือเหนือกว่าความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และสหภาพยุโรป (EU) โดยมีข้อได้เปรียบที่สำคัญ ดังนี้
ด้านขนาดเศรษฐกิจ ในปี 2562 GDP ของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศรวมกัน ได้กลายเป็นขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 5 ของโลก ขณะเดียวกัน ประเทศจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ญี่ปุ่นเป็นอันดับ 3 ของโลก และเกาหลีใต้เป็นอันดับ 10 ของโลก ซึ่งเมื่อรวมตัวกันเป็น RCEP แล้ว เท่ากับยกระดับขึ้นเป็นขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก หากพิจารณาจากมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2562 สมาชิก RCEP รวมกันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสัดส่วนร้อยละ 28.9 ของโลก ซึ่งสูงกว่า NAFTA (ร้อยละ 27.3) และ EU (ร้อยละ 21.8)
ด้านขนาดการค้าและการลงทุน เมื่อคำนวณจากสัดส่วนการส่งออกบริการและสินค้าแล้ว สมาชิก 15 ประเทศภายใต้ RCEP ครองสัดส่วนถึงร้อยละ 26.1 ของโลก สูงกว่าความตกลง NAFTA ร้อยละ 11.8 ส่วนการดึงดูดการลงทุนนั้น การไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของ 15 ชาติสมาชิกครองสัดส่วนร้อยละ 38.3 ของโลก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ NAFTA และ EU แล้ว มีสัดส่วนร้อยละ 28.3 และ 4.2 ของโลกตามลำดับ ซึ่งเท่ากับว่า มูลค่าลงทุนมากกว่า 1 ใน 3 ของโลกหลั่งไหลเข้าสู่ภูมิภาค RCEP
ด้านขนาดประชากร สมาชิก RCEP 15 ประเทศมีจำนวนประชากรรวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.7 ของโลก ขณะที่จำนวนประชากรของ EU และ NAFTA มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.7 และ 6.5 ของโลกตามลำดับ ด้านสัดส่วนแรงงาน สมาชิก RCEP 15 ประเทศมีจำนวนแรงงานรวมกันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 31.6 ของโลก ขณะที่ EU และ NAFTA มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.7 และ 13.2 ของโลกตามลำดับ ดังนั้น RCEP จึงสมบูรณ์พร้อมทั้งด้านจำนวนประชากรที่มีอยู่และการปันผลทางประชากร (Demographic Dividend) ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญในอนาคตของภูมิภาคนี้
# โลกาภิวัตน์ “ยุคเอเชีย-แปซิฟิก”
จากผลกระทบของกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์และการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้โครงสร้างของเศรษฐกิจการค้าทั่วโลกกำลังค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง ความร่วมมือใหม่ๆ ระหว่างภูมิภาค ล้วนนำพาเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์เข้าสู่ศักราชใหม่ โดย RCEP ได้บูรณาการและขยายขอบข่ายของความตกลงการค้าเสรีที่มีหลายความตกลงในหมู่ 15 ชาติสมาชิก ซึ่งได้ช่วยขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี อีกทั้งได้ทำให้กฎกติกาในภูมิภาคมีความเป็นเอกภาพ ช่วยผลักดันการพัฒนาไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเอเชีย-แปซิฟิก
ทั้งนี้ ความตกลง RCEP มีทั้งหมด 20 ข้อบท ครอบคลุม 4 ประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับการเปิดตลาดในหมู่ภาคีให้กว้างขึ้น ได้แก่ การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายของผู้คนแบบชั่วคราว ส่วนด้านการลดภาษี การค้าสินค้าที่เข้าข่ายภาษีเป็นศูนย์มีจำนวนมากกว่าร้อยละ 90 อีกทั้งสินค้าส่วนใหญ่จะได้รับการลดภาษีเป็นศูนย์ในทันที หรือลดภาษีเหลือศูนย์ภายใน 10 ปี
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย กล่าวว่า ความตกลง RCEP มีการเพิ่มความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีอยู่ก่อนหน้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันทางการค้า ตลอดจนมีเรื่องใหม่ ๆ อาทิ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ซึ่งจะสร้างโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ให้กับธุรกิจในภูมิภาคได้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ความตกลง RCEP นับเป็น FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และมีความก้าวหน้ามากที่สุดที่ริเริ่มโดยอาเซียน ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียนในเวทีระดับภูมิภาค และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือของอาเซียนกับหุ้นส่วนของภูมิภาค
สำหรับประเทศจีน นอกจากความตกลง RCEP จะเป็นชัยชนะของการดำเนินนโยบายส่งเสริมพหุภาคีนิยมและการค้าเสรี (multilateralism and free trade) ท่ามกลางกระแสกดดันของลัทธิปกป้องทางการค้า (protectionism) ในสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกาแล้ว ความตกลง RCEP ยังเปิดโอกาสและสร้างประโยชน์ให้แก่พื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนที่ยังคงมีระดับการพัฒนาไม่มากและเปรียบเสมือน “แนวหน้า” ในการเชื่อมโยงกับอาเซียนของจีน
ผลสำรวจจาก เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ ซึ่งได้ทำการสำรวจความเห็นของบริษัทจำนวน 10,400 แห่งใน 39 ประเทศระหว่างวันที่ 11 ก.ย. – 7 ต.ค. 63 พบว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากการแยกตัวออกจากจีนจะไม่ได้เป็นไปตามที่คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตั้งใจไว้ แต่ยังทำให้ฐานการผลิตของบริษัทเอกชนสหรัฐฯ กระจายไปยังศูนย์กลางธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แทนที่จะย้ายกลับประเทศ
ทั้งนี้ การโยกย้ายฐานการผลิตจากโลกฝั่งตะวันตกไปยังตะวันออก และการผงาดขึ้นของภูมิภาคเอเชียนั้น เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่สหรัฐเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้า และในช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลก
นอกจากนั้น การลงนามความตกลง RCEP ยังทำให้ผลประโยชน์ที่ผูกโยงกันของวงแหวนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแนบแน่นยิ่งขึ้น ความเคลื่อนไหวใดๆ ที่จะทำลายสันติภาพในภูมิภาคจะถูกสกัดกั้นอีกชั้นหนึ่ง การบรรลุความตกลง RCEP ยังยกระดับความสำคัญของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในโครงสร้างการพัฒนาของโลก ถ้าหาก RCEP และความตกลงการค้าเสรีจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ดำเนินไปอย่างราบรื่น อนาคตในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ “ยุคแห่งเอเชีย-แปซิฟิก” หรือ “ยุคแห่งเอเชีย” โดยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะกลายเป็นพลวัตรที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก ซึ่งนับวันเอเชียจะกลายเป็นภูมิภาคขนาดใหญ่ที่สุดของโลกที่มีเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งด้านห่วงโซ่การผลิต ห่วงโซ่อุปทาน และการบริโภค
เรียบเรียงโดย อรสา รัตนอมรภิรมย์ ศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา
ที่มาข้อมูล :
云顶财说 , 区域全面经济伙伴关系协定(RCEP): 后疫情时代的全球化新雏形, Retrieved Nov 29, 2020, from https://mp.weixin.qq.com/s/NkXBuKFjCVWmyjhwoZfesQ
任泽平,全球最大自贸区RCEP诞生:内容、影响与展望, Retrieved Nov 29, 2020, from http://finance.sina.com.cn/zl/china/2020-11-18/zl-iiznezxs2508769.shtml
凤凰卫视,世界格局因此不同——RCEP签署全记录,Retrieved Nov 29, 2020, from https://mp.weixin.qq.com/s/WRgtMXppUoggYH8y8Fvvxw
จีนแซงหน้าสหรัฐเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของบริษัทในเอเชียแปซิฟิก, สืบค้นเมื่อ 2 ธ.ค. 63 จาก https://www.infoquest.co.th/2020/50980
ที่มารูปภาพ :
https://www.statista.com/chart/23503/combined-gdp-of-regional-trade-blocs/