จากคำแถลงการณ์ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ได้มีการประชุมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 ระหว่างวันที่ 26-19 ตุลาคม 2563 มีเนื้อหาหลักด้วยการให้คำมั่นว่าจะสร้างชาติเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยี และเน้นให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพมากกว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้น แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีของชาติเป็นครั้งแรก ซึ่งมุ่งจะยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ (economic self reliance) นับเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามเป้าหมายของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง
สำหรับแผนพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีของจีนเป็นความพยายามอันแรงกล้าที่จะพิสูจน์ว่าจีนไม่ใช่ประเทศจอมก็อป (Imitator) อีกต่อไป แต่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก (Innovator) ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ส่วนสำคัญต่อการพัฒนากำลังคนและสร้างระบบนิเวศน์ด้านการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของจีน ประกอบด้วย 1) รัฐบาล 2) ผู้สร้างเทคโนโลยี นวัตกรรมและผู้ประกอบการด้านดิจิทัล 3) กลุ่มผู้ร่วมลงทุนขนาดใหญ่
อนึ่ง จีนสามารถสร้างเทคโนโลยี 5G ได้สำเร็จในกลางปี 2561 และ ตุลาคม 2562 ประกาศใช้เชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ซึ่งหมายถึง จีนสามารถเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเคลื่อนที่ไร้สายได้เป็นครั้งแรก รวมถึงลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและอุปกรณ์จากต่างประเทศ ส่งผลให้เทคโนโลยีจีนมีความทันสมัยก้าวกระโดดทัดเทียมสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก ซึ่งสอดรับกับแผนการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมของโลก
การเริ่มใช้เทคโนโลยี 5G ในเชิงพาณิชย์ของจีนช่วยในการกระตุ้นธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ เนื่องจาก ได้มีการสร้างการรับรู้ว่าเป็น “เทคโนโลยีพลิกโลก” อย่างแท้จริง เพราะเข้ามามีบทบาทในการสร้างเม็ดเงินในระบบอย่างมหาศาลในหลายภาคส่วน อาทิ ด้านเศรษฐกิจ การค้าอิเล็กทรอนิกส์ การลงทุน การบริโภค ภาคอุตสาหกรรม การรักษาพยาบาล สื่อมวลชน การคมนาคมขนส่ง การวิจัยพัฒนาและอื่นๆ ส่งผลให้ มูลค่ารวมเศรษฐกิจดิจิทัลจีนในปี 2562 มีมูลค่าสูงถึง 35.8 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.2 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 มีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจีนมากกว่า 940 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ทั้งนี้ มีการประมาณการว่าปี 2563-2573 จีนจะใช้เงินถึง 2.8 ล้านล้านหยวน (411 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพื่อการสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมในประเทศ และในปี 2568 ตลาด 5G จะมีมูลค่าถึง 1.1 ล้านล้านหยวน หรือร้อยละ 3.2 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ
การขยายอิทธิพลด้านเทคโนโลยีของจีนภายใต้การพัฒนาเส้นทางสายไหมยุคใหม่ Belt and Road Initiatives (BRI) สะท้อนให้เห็นความต้องการสร้างความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศ BRI ดังปรากฎผ่านบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจีนเข้ามาเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในสตาร์ทอัพและอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Alibaba Tencent Huawei และ ZTE ดังตัวอย่าง โครงการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี 5G ของ Huawei และ ZTE ในกัมพูชา ส่วนในเมียนมา Huawei ได้ร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารของประเทศเมียนมาพัฒนาบริการบรอดแบนด์ 5G รวมถึงเพิ่มการรู้ดิจิทัลและการใช้ IoT (Internet of Things) ขณะที่ปลายปี 2563 Huawei ได้ใช้ประเทศไทยเป็นฐานเปิดตัวทดสอบ 5G เป็นชาติแรกในเอเชีย ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดบริการ 5G เชิงพาณิชย์ได้ในปี 2564
ทั้งนี้ การเปิดตัวเทคโนโลยี 5G ในอาเซียนนับเป็นการจุดประกายการเติบโตของตลาดและผู้บริโภค เนื่องจาก เทคโนโลยี 5G จะช่วยผลักดันการใช้งานในหลากหลายรูปแบบที่ก้าวล้ำมากขึ้น อีกทั้ง ภาคธุรกิจและองค์กรต่างก็มองหาหนทางในการใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (4IR – Fourth Industrial Revolution) ซึ่งเป็นการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วย AI IoT ระบบการพิมพ์ 3 มิติ ระบบหุ่นยนต์ขั้นสูง อุปกรณ์สวมใส่ รวมถึง สมาร์ทซิตี้ เพื่อสร้างโอกาสและการเติบโตของธุรกิจด้วยการปรับใช้เทคโนโลยี 5G ที่มีดีมิใช่เพียงแค่สัญญาณโทรศัพท์
ที่มาข้อมูล: https://globthailand.com/china-161120-2/
https://www.creativethailand.org/view/article-read?article_id=27949
https://www.depa.or.th/en/article-view/innovation-articlev2
ที่มารูปภาพ: https://www.forbes.com/sites/arthurherman/2018/10/17/the-war-for-the-worlds-5g-future/?sh=340b65e51fe5
เรียบเรียงโดย สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัยศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา