ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ได้มีพิธีลงนามอย่างสมบูรณ์ เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2563 ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ส่วนอินเดียนั้นตัดสินใจไม่เข้าร่วมในท้ายที่สุด
ข้อมูลทางการค้าในปี 2562 ความตกลง RECP ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกัน 2.2 พันล้านคน หรือร้อยละ 30 ของประชากรโลก มี GDP รวมกันกว่า 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (817.7 ล้านล้านบาท) หรือประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (326 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 28 ของมูลค่าการค้าโลก
RCEP ถือเป็นความตกลงทางการค้า การลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่า GDP และประชากรรวมกันเป็น 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งความตกลง RCEP มุ่งคุณภาพ มาตรฐานสูง การลดอุปสรรคทางการค้า การขยายการเข้าถึงตลาดสำหรับสินค้าและบริการ การยกระดับความสามารถในการแข่งขันและผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของทุกประเทศ รวมถึงการเชื่อมโยงเศรษฐกิจอาเซียนเข้ากับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โลก ครอบคลุมในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นด้านการเข้าถึงตลาดซึ่งตั้งเป้าที่จะลดภาษีระหว่างกันให้ได้มากที่สุด การลดอุปสรรคทางการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และการเปิดกว้างประเด็นใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ อาทิ เรื่องนโยบายการแข่งขัน และทรัพย์สินทางปัญญา
# ประโยชน์ของ RCEP ที่มีต่ออาเซียน
สิงคโปร์ ฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการค้าและห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคของอาเซียน คาดว่า การลดอัตราภาษีสินค้าส่งออกของ RCEP ไม่น่าจะช่วยกระตุ้นการส่งออกในระยะสั้นของสิงคโปร์ได้ เนื่องจาก สิงคโปร์มีข้อตกลงทวิภาคีกับชาติที่ไม่ใช่สมาชิกอาเซียนอยู่แล้ว (ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน)
ฟิลิปปินส์ จะได้รับประโยชน์จากการเปิดตลาดสินค้าของ RCEP สูงถึงร้อยละ 92 รวมถึงอุตสาหกรรมการมอบหมายงานให้บุคคลภายนอกรับผิดชอบดูแลแทน (Business Process Outsourcing: BPO) ก็จะได้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน เนื่องจาก ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีการส่งออกแรงงานเป็นจำนวนมาก รวมถึงพนักงานบริการ เช่น คนเดินเรือ ครูผู้สอน โปรแกรมเมอร์และวิศวกร ขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มีความต้องการพนักงานบริการการจากต่างประเทศจำนวนมาก
อินโดนีเซีย มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงตลาด การลงทุน และโอกาสในการมีส่วนร่วมของระบบห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค โดยความก้าวหน้าเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการส่งออกซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้ง รัฐบาลอินโดนีเซียให้ความสำคัญกับการทำความตกลงทางการค้าต่างๆ เพื่อกระตุ้นการส่งออก
มาเลเซีย การค้าส่วนใหญ่ของมาเลเซียขึ้นอยู่กับสมาชิก RCEP โดยความตกลง RCEP จะช่วยให้ บริษัทและผู้บริโภคในมาเลเซียมีโอกาสทางการค้าและความร่วมมือที่เพิ่มขึ้น รวมถึงบริษัทที่เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โทรคมนาคม การธนาคารและการเงิน และการให้คำปรึกษาจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ภาคธุรกิจของมาเลเซียก็สามารถเข้าถึงวัตถุดิบที่มีคุณภาพ และราคาที่แข่งขันได้เพิ่มขึ้น
เวียดนาม RCEP จะเปิดโอกาสให้วิสาหกิจของเวียดนามสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (new value chains) และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง การลดอัตราภาษีนำเข้าจะเปิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับสินค้าสำคัญของเวียดนาม อาทิ โทรคมนาคม สารสนเทศ สิ่งทอ รองเท้า และสินค้าเกษตร ซึ่งทั้งหมดนี้จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องพร้อมกับการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
ไทย มีการส่งออกสินค้าคิดเป็นร้อยละ 70 ของ GDP ประเทศ โดยไทยจะได้รับประโยชน์จาก RCEP ในด้านการรวมระบบเศรษฐกิจเข้ากับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และการมีตลาดขนาดใหญ่ในเอเชียแปซิฟิก ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยจะได้รับประโยชน์ในด้านการค้า มูลค่า และนวัตกรรม อีกทั้ง ผู้ผลิตยังได้รับวัตถุดิบที่ถูกกว่าจากเครือข่ายที่กว้างขึ้น
# ผลกระทบบวก-ลบต่อไทย
สำหรับสินค้าส่งออกที่ไทยจะได้ประโยชน์อย่างสูงสุด ประกอบด้วย
- หมวดสินค้าเกษตร เช่น แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด สินค้าประมง เป็นต้น
- หมวดอาหาร ผักผลไม้แปรรูป น้ำส้ม น้ำมะพร้าว อาหารแปรรูป
- หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ จักรยานยนต์ เครื่องแต่งกาย
- หมวดบริการ เช่น ก่อสร้าง ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจด้านภาพยนตร์ บันเทิง อนิเมชั่น
- หมวดค้าปลีก
ส่วนการรวมระบบเศรษฐกิจเข้ากับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ไทยจะได้ประโยชน์จากโอกาสในการเป็นตัวเลือกหลักของฐานการผลิตที่สำคัญในเอเชีย อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
อนึ่ง ความตกลง RCEP เป็นกลุ่มการค้าที่มีห่วงโซ่การผลิตที่เข้มแข็ง เอื้อประโยชน์ต่อการผลิตและการค้าในซีกโลกตะวันออก ด้วยจุดเด่นของกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Roo of Origins: ROOs) ที่เป็นหนึ่งเดียวกันและมีความยืดหยุ่น
อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมความตกลง RCEP ของไทยย่อมมีผลกระทบเกิดขึ้นไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ดังนี้
- การเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะสูง
- การถูกกดดันให้ลดความเข้มงวดของกฎหมาย อาจมีการผ่อนคลายกฎระเบียบมากขึ้น
- อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากอาจถูก Disruption
- สินค้าขั้นต้นจะมีการแข่งขันด้านราคาสูงและ SMEs จะได้รับผลกระทบที่รุนแรง
- เกิดการทะลักของสินค้าที่มีราคาถูกจากชาติสมาชิกเข้ามาในไทย
- พืช ผัก ผลไม้ ราคาถูกจะเข้ามาแข่งขันกับเกษตรกรไทย
การเข้าร่วมความตกลง RCEP มีผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ ดังนั้น ภาคเอกชนและภาครัฐของไทยจะต้องเร่งดำเนินการเตรียมพร้อมและปรับตัว อาทิ การศึกษากฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลงนี้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งผลให้ไทยสามารถยกระดับเป็นประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น
ที่มาข้อมูล:
https://www.ryt9.com/s/iq03/3135879
https://www.gsbresearch.or.th/wp-content/uploads/2020/01/MC_hotissue_rcep_12_62_inter_ex.pdf
https://www.thebangkokinsight.com/477779/
ที่มารูปภาพ: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:RCEP.png
เรียบเรียงโดย สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัยศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา