จากการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศ Belt and Road Initiative (BRI) ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อ 14 พฤษภาคม 2560 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า จีนจะสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัล (Digital Silk Road) เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนา รวมถึงการค้าและการลงทุน โดยมุ่งเน้นเศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การสร้างเมือง Smart City นาโนเทคโนโลยี ควอนตัม คอมพิวติ้ง (Quantum Computing) มาใช้ในการบริหารจัดการ การนำ 3D Printing มาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีอื่นๆ อาทิ Big Data, AI และ Cloud รวมถึงการสร้างเส้นทางคมนาคม
สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 ของจีน ที่มุ่งสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีและเน้นให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพมากกว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งแผนพัฒนาฯ นี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีของชาติเป็นครั้งแรก โดยจะยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้
อนึ่งข้อมูลจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของจีน (China Academy of Information and Communications Technology: CAICT) ระบุว่า ปี 2562 ขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วโลกมีทั้งสิ้น 31.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (990.89 ล้านล้านบาท) อัตราเติบโต (nominal growth rate) ร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าอัตราเติบโตของ nominal GDP ทั่วโลกช่วงเดียวกันร้อยละ 3.1 ทั้งนี้ ขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนอยู่อันดับสองมีขนาด 5.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (162.03 ล้านล้านบาท) เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ที่ 13.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (408.2 ล้านล้านบาท)
จีนดำเนินการสร้างชาติด้วยการสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีนับเป็นกุญแจสำคัญในการนำพาจีนไปสู่เป้าหมาย ด้วยการมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ซึ่งกว่างซีเป็นหนึ่งในเมืองที่รัฐบาลจีนสนับสนุนให้เป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสาร Information Hub รวมถึงการเป็น Gateway to ASEAN ของจีนตามแนวเส้นทาง Digital Silk Road
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลในกว่างซีช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,500 ราย นิคมอุตสาหกรรมที่รองรับการลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัลมี 26 แห่งใน 9 เมืองทั่วมณฑล (จากทั้งหมด 14 เมือง) ธุรกิจยักษ์ใหญ่ทยอยเข้ามาลงทุนในกว่างซี อาทิ Huawei, Alibaba และ Inspur ห่วงโซ่อุตสาหกรรมดิจิทัลเริ่มก่อตัว อาทิ การผลิตอัจฉริยะ ศูนย์คลาวด์คอมพิวติ้งและบิ๊กดาต้า การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแกน (Core technology) และการบ่มเพาะอุตสาหกรรมดิจิทัล (Incubator) ส่งผลให้ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลมีจำนวน 1.1 หมื่นราย รายได้จากการบริการด้านซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศมีอัตราขยายตัวสูงที่สุดในจีน
จากบทบาทการเป็น Gateway to ASEAN ของกว่างซี รัฐบาลกว่างซีกำลังเร่งดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาเส้นทางสายไหมดิจิทัลด้วยการเร่งพัฒนาศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Information Harbor: CAIH) โดยมีเป้าหมายให้กว่างซีเป็นศูนย์กลางระบบเครือข่ายการสื่อสารและข้อมูลสารสนเทศ ซึ่งกำหนดให้นครหนานหนิงเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศ และการพัฒนาโครงการเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ระหว่างจีนกับอาเซียนในอนาคต
ปัจจุบันจีนกับอาเซียนมีความร่วมมือในการพัฒนาโครงการด้านสารสนเทศร่วมกันหลายโครงการ อาทิ การเชื่อมโยงสายเคเบิ้ลใยแก้วใต้น้ำ อาทิ ระบบเคเบิลข้ามแดนจีน-เวียดนาม จีน-เมียนมา การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากระบบดาวเทียมนำร่องเป๋ยโต่ว (BDS ground-based augmentation system) เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการเก็บ ประมวล และรับส่งข้อมูลผ่านดาวเทียม การจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับทวิภาคี ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน-อาเซียน (China-ASEAN Bilateral Technology Transfer Centers – CATTC) รวมถึงไทยที่ได้มีความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการพัฒนาแพลตฟอร์มมาตรฐานทางเทคโนโลยีจีน-อาเซียน ตัวช่วยแปลภาษาในอาเซียนและการพัฒนาโครงการด้านนวัตกรรมและความร่วมมือทางเทคโนโลยีร่วมกัน ซึ่งโครงการดังกล่าวตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ 3 ด้านของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่กำหนดให้กว่างซีเป็น ประกอบด้วย 1) ช่องทางเชื่อมโยงสู่อาเซียน 2) การเป็นจุดยุทธศาสตร์ใหม่ของการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกของพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคกลางตอนล่าง 3) การเป็นประตูเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 กับแถบพื้นที่เศรษฐกิจเส้นทางสายไหม
ความมุ่งมั่นของจีนในการยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมนำมาซึ่งความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพัฒนาการและแนวโน้มดังกล่าวตอกยํ้าให้เห็นถึงการก้าวกระโดดของโลกดิจิทัลของจีน ดังนั้น ประเทศในอาเซียนควรใช้ประโยชน์จากการเป็น Gateway to ASEAN ของกว่างซี ในการสร้างความร่วมมือ การเรียนรู้และการปรับใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม
ที่มาข้อมูล:
https://www.facebook.com/ChinaStoryTH/
https://www.thairath.co.th/news/foreign/1425128
https://thaibizchina.com/เศรษฐกิจดิจิทัล-ของกว/
https://thaibizchina.com/นึกถึงเทคโนโลยีสารสนเท/
ที่มารูปภาพ: https://thaibizchina.com/
โพสต์ที่เกี่ยวข้อง:
Digital Silk Road ยุทธวิธีมหาอำนาจทางไซเบอร์จีน
https://www.facebook.com/CAScenter/photos/a.655730117786270/5252342394791663/
เรียบเรียงโดย สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัยศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา