ในโอกาสเปิดงานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติแห่งประเทศจีน (CIIE) ครั้งที่ 3 ณ มหานครเชี่ยงไฮ้ ระหว่างวันที่ 5-10 พ.ย. 63 Prof.Dr. Tang Zhimin คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซินหัว โดยมีใจความสรุป ดังนี้
รัฐบาลจีนได้กำหนดเป้าหมายให้ปี 2563 เป็น “ปีแห่งยุทธการสุดท้ายเพื่อขจัดความยากจนและสร้างสังคมเสี่ยวคัง หรือ สังคมอยู่ดีมีสุขอย่างสมบูรณ์” ตั้งแต่ปีหน้า จีนจะเข้าสู่การพัฒนาในขั้นถัดไป เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่สำคัญของประชาคมโลกด้วย
จากข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ค.ศ.2021-2025) หรือ แผน 14 เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 63 ได้เผยให้เห็นถึงพิมพ์เขียวทางยุทธศาสตร์ของจีนใน 3 เรื่อง คือ (1) สร้างระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้างในระดับสูงยิ่งขึ้น (2) ผลักดันการพัฒนาข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น และ (3) เข้าร่วมการปฏิรูปโครงสร้างการปกครองเศรษฐกิจโลก
ขณะที่ปาฐกถาของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในพิธีเปิดงานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติแห่งประเทศจีน (CIIE) ครั้งที่ 3 เมื่อค่ำวานนี้ (4 พ.ย.) ได้เรียกร้องให้นานาประเทศผสานมือกันเพื่อผลักดันความร่วมมือที่จะเปิดกว้างมากยิ่งขึ้นใน 3 ด้าน คือ ได้รับประโยชน์ร่วมกัน (win-win) รับผิดชอบร่วมกัน และปกครองร่วมกัน
นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ของธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศแล้ว จีนยังมีมาตรการ 4 ข้อที่จะส่งเสริมยุทธศาสตร์การเปิดกว้างในระดับที่สูงขึ้น ประกอบด้วย
(1) พัฒนาพื้นที่เปิดกว้างระดับสูง เช่น เขตสาธิตการค้าเสรี และ ท่าเรือการค้าเสรี ฯลฯ
(2) อาศัยเวทีที่เปิดกว้างของ CIIE ผลักดันการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ ผลักดันพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-Commerce) รูปแบบใหม่ ผลักดันให้ปัจจัยทางเทคโนโลยีไหลเวียนได้อย่างเสรีในเวทีระหว่างประเทศ ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการค้าระหว่างประเทศใหม่ๆ
(3) ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น
(4) ส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค ความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคีให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่เศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งเพิ่มปัจจัยความไม่แน่นอนและความไร้เสถียรภาพในอนาคต
เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวขึ้นภายหลังจากที่จีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ รวมทั้งคำปาฐกถาของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในพิธีเปิด CIIE ทำให้ประเทศอาเซียนเห็นความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รอคอยที่จะได้เห็นผลรูปธรรมจากมาตรการใหม่และยุทธศาสตร์ใหม่ที่จีนจะเปิดกว้างในระดับสูงยิ่งขึ้นในขั้นตอนใหม่ของการพัฒนา เปิดโอกาสให้ทั่วโลกได้ร่วมแบ่งปันประโยชน์จากตลาดจีนอันกว้างใหญ่และมีศักยภาพสูง เก็บเกี่ยวผลงานนวัตกรรมที่จีนสร้างสรรค์ใหม่อยู่เสมอ รวมทั้งการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) อันเกิดจากห่วงโซ่อุตสาหกรรม-ห่วงโซ่อุปทานโลก