เมื่อ ปี 2556 ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ประกาศแนวคิดเส้นทางสายไหมบนบกและเส้นทางสายไหมทางทะเล Belt and Road Initiative (BRI) เพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม การส่งออกสินค้า การส่งออกนักลงทุนจีน และนักท่องเที่ยว
ถัดมาได้มีการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศ Belt and Road Initiative ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2560 โดย สี จิ้นผิง ได้กล่าวว่า จีนจะสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัล (Digital Silk Road: DSR) เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการพัฒนา โดยมุ่งเน้นเศรษฐกิจดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) นาโนเทคโนโลยี ควอนตัม คอมพิวติ้ง (Quantum Computing) การนำ 3D Printing มาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ตลอดจนถึงเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น Big Data, AI และ cloud
จากนั้น ปลายเดือนเมษายน 2562 มีการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการประชุมในหัวข้อ Digital Silk Road ภายใต้แนวคิด “การร่วมกันสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัลแห่งศตวรรษที่ 21” สะท้อนให้เห็นความต้องการสร้างความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศ BRI ภายใต้เทคโนโลยีที่มีความสำคัญกับการค้าและการลงทุน นับจากนั้น Digital Silk Road จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกลยุทธ์ BRI
ดังนั้น ยุทธศาสตร์ Digital Silk Road ในยุคของสี จิ้นผิง เน้นส่งออก platform ของจีนในรูปแบบต่างๆ ไปทั่วโลก อาทิ แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ Alibaba, Tencent และ TikTok
ทั้งนี้ เหตุผลที่จีนเสนอยุทธศาสตร์ Digital Silk Road เนื่องจาก ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ได้แก่ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง การผลิตเกินความต้องการ ประชากรสูงอายุจำนวนมาก และการแข่งขันในประเทศที่สูงขึ้น ขณะที่ความต้องการลดลงและสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ประกอบกับเส้นทางสายไหมยุคใหม่เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตอีกมาก
อนึ่ง สัดส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัลในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศจีน China Academy of Information and Communications Technology (CAICT) เปิดเผยว่า เมื่อปี 2561 เศรษฐกิจดิจิทัลจีนมีมูลค่ารวม 31.3 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 135.41 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.9 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นร้อยละ 34.8 ของ GDP ของทั้งประเทศ ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจจีน โดยมีส่วนผลักดันการเติบโตของ GDP ของจีนในปีก่อนกว่าร้อยละ 67.9
แนวความคิดของยุทธศาสตร์ Digital Silk Road มุ่งเน้นการหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ผ่านความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ที่มุ่งเน้นการปรับปรุงและปฏิรูปภาคการผลิตในประเทศเพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจจีนจากการผลิตที่ใช้แรงงานจำนวนมากมุ่งเน้นไปที่รูปแบบเศรษฐกิจแห่งความรู้ที่เน้นเทคโนโลยีและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รวมถึงการวางตำแหน่งของบริษัทจีนในระดับแนวหน้าด้านนวัตกรรมระดับโลก ขณะที่ ยุทธศาสตร์ Digital Silk Road มุ่งเน้นการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจเป็น 2 ลักษณะ ประกอบด้วย
1) การสร้างความเป็นอุตสาหกรรมเชิงดิจิทัล (Digital Industrialization) เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมข่าวสารข้อมูล อาทิ การผลิตข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม ซอฟต์แวร์และบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ต
2) การสร้างความเป็นดิจิทัลให้กับอุตสาหกรรม (Industry Digitalization) หมายถึง การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมดั้งเดิม เพื่อเพิ่มปริมาณและประสิทธิภาพในการผลิต
ดังนั้น เป้าหมายของยุทธศาสตร์ Digital Silk Road จีนได้เดินหน้าอย่างเต็มที่ในการผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำในเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการขยายอิทธิพลไม่ว่าจะเป็นด้านการลงทุน ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ สอดรับกับเจตนารมณ์ของสี จิ้นผิง ที่ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนจีนให้เป็นมหาอำนาจทางไซเบอร์ (网络强国) เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความมั่นคงและการพัฒนาของประเทศ
ยุทธศาสตร์ Digital Silk Road มีกลไกในการขยายอิทธิพลเข้าครอบงำเศรษฐกิจดิจิทัลของโลกด้วยการเร่งผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในกลุ่มประเทศ BRI โดยเฉพาะการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้า การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี 5G การสร้างเมือง Smart City ตลอดจนการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มในธุรกิจ E-commerce ฯลฯ จากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนไม่ว่าจะเป็น Huawei, Alibaba, Tencent, Baidu และ ZTE ซึ่งปัจจัยสำคัญ คือ การสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ได้เปรียบคู่แข่งเป็นอย่างมากเพราะสินค้ามีคุณภาพสูงแต่ราคาถูก รวมถึงการสนับสนุนโครงการเมืองอัจฉริยะที่สามารถใช้เป็นฐานทดสอบเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้
ผลการดำเนินงานของจีนในกลุ่มประเทศอาเซียนในการสร้าง Digital Silk Road ที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นเป้าหมายหลัก ดังเห็นได้จากนโยบายของทั้งผู้นำจีนและอาเซียนที่ได้ร่วมกันกำหนดให้ปี 2563 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างจีน-อาเซียน เพื่อเน้นสร้างความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างกันให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ฝ่ายจีนได้กำหนดให้มณฑลกว่างซี เป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสาร Information Hub ด้วยการสร้าง Digital Silk Road ไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนทุกประเทศ ดังตัวอย่างการสร้างความร่วมมือด้านดิจิทัล คือ โครงการอิเล็กทรอนิกส์ซิม (eSIM) ซึ่งได้เปิดให้บริการใน มาเลเซีย และ เมียนมาแล้ว และกำลังจะเปิดให้บริการใน กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย โครงการ eSIM ถือเป็นแฟล็กชิปโปรแกรมของ China–ASEAN Information Harbor ที่มีการริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 โครงการนี้ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ฝ่ายจีนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การค้า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การแบ่งปันข้อมูล ฯลฯ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ ไม่ใช่มีแค่ eSIM แต่หมายรวมถึง โครงสร้างพื้นฐานหลักที่จีนกำลังรุกอย่างหนัก คือ การเร่งวางเคเบิลไฟเบอร์ออปติกใต้ทะเลเพื่อเชื่อมต่อไปยังทุกทวีปนับร้อยประเทศตามแนวเส้นทาง BRI
นอกจากนี้ มีบริษัทด้านเทคโนโลยีของจีนได้เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในกลุ่มธุรกิจ Start up และ E-commerce ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วเช่นเดียวกัน ประกอบด้วย
1) Alibaba ดำเนินธุรกิจในเครือ Lazada Group ซึ่งเป็น บริษัท อีคอมเมิร์ซในสิงคโปร์ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้งานรายเดือนสูงสุดในไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
2) Tencent และ Didi Chuxing ร่วมกันลงทุนในภาคการให้บริการรถยนต์รวมถึง Grab, Go-Jek
3) Alipay บุกตลาด e-Payment ในกัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์และเมียนมา เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่มีการเปิดตัวก่อนหน้านี้ในสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม
4) Ant Financial ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Alipay ได้ขยายการให้บริการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการควบรวมกิจการ การเข้าซื้อกิจการและการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจในไทยด้วย Ascend Money ในอินโดนีเซียกับ Emtek และในฟิลิปปินส์กับ Mynt
5) Huawei และ ZTE มีส่วนสำคัญในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน ICT โดยเฉพาะการวางสายเคเบิลใยแก้วนำแสง Huawei Marine โดยส่วนใหญ่อยู่ในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ในขณะที่ ผู้ผลิตมือถือสัญชาติจีนอย่าง Oppo, Huawei และ Vivo ได้เป็นผู้นำตลาดในภูมิภาคนี้แซงหน้า Samsung แล้ว
ทั้งนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนในปี 2562 มีมูลค่า 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะขยายเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่าตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ความพยายามพัฒนาประเทศของจีนไปสู่ความฝันอันสูงสุดในการเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก โดย Digital Silk Road เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่เป็นแรงขับเคลื่อนในการสร้างความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศ BRI ซึ่งใช้ยุทธวิธีการสนับสนุนด้านต่างๆ แก่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนไม่ว่าจะเป็น Huawei, Alibaba, Tencent, Baidu และ ZTE เข้าไปลงทุนด้านการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งผลให้จีนสามารถขยายอิทธิพลทั้งด้านเศรฐกิจและด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มของโลก อีกทั้งการเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นยุทธวิธีการเป็นมหาอำนาจของจีน
ที่มาข้อมูล:
https://www.blockdit.com/posts/5dc434fed73c782ca002b949
https://www.thairath.co.th/news/foreign/1425128
http://www.drprapat.com/จีน-อาเซียน-2019-ตอนที่-2/
ที่มารูปภาพ: http://laredcubana.blogspot.com/2019/06/does-chinas-digital-silk-road-to-latin.html
เรียบเรียงโดย สรวรรณ พ่วงแสง นักวิจัยศูนย์อาเซียน-จีนศึกษา