งานมหกรรมแสดงสินค้านำเข้านานาชาติแห่งประเทศจีน (China International Import Expo) หรือ CIIE ครั้งที่ 3 ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งระหว่างวันที่ 5-10 พฤศจิกายน 2563
เป็นการจัดงานแบบ “มาตามนัด” ท่ามกลางวิกฤติโรคโควิด-19 ซึ่งระบาดรุนแรงไปทั่วโลก จนงานประชุมสัมมนา นิทรรศการ และงานอีเวนท์ต่างๆ ทั่วโลกต้องหยุดชะงักลง หรือเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด…แต่ไม่ใช่สำหรับจีน !
CIIE ปี 3 จึงเสมือนการส่งสัญญาณให้ทั่วโลกเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจสังคมของจีนได้ฟื้นตัวขึ้นแล้วอย่างรวดเร็ว เป็นสิ่งพิสูจน์ถึงผลงานความสำเร็จของจีนในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตอกย้ำถึงความตั้งใจและความมั่นใจของจีนในการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ รวมทั้งแสดงบทบาทชาติมหาอำนาจที่รับผิดชอบต่อสังคมโลก
สำหรับพื้นที่การจัดงานในปีนี้กว้างใหญ่กว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 14 มีพื้นที่รวม 360,000 ตารางเมตร มีองค์กรกว่า 3,000 รายเข้าร่วมออกบูธ มีบริษัทลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 112,000 ราย ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมงานเกือบ 500,000 คน และมีคณะเจรจาการค้าเกือบ 600 คณะที่ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน
นอกจากนั้น จีนยังใช้รูปแบบการจัดงานแบบ “6 วัน + 365 วัน” โดยตั้งศูนย์ซื้อขายและจัดแสดงสินค้านำเข้าหงเฉียว (เซี่ยงไฮ้) เป็นแพลตฟอร์มรองรับสินค้าที่เคยร่วมในงาน CIIE เพื่อให้สินค้าดังกล่าวมีโอกาสทดลองตลาดจีนได้ในระยะยาวแม้ว่างาน CIIE จะสิ้นสุดลง
# เพาะเมล็ดพันธุ์ผลักดันเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว #
CIIE ยังมีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การสร้างสรรค์เศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง การค้าเสรี และระบบพหุนิยม
รายงาน World Economic Outlook โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัวร้อยละ 4.4 โดยจีนจะเป็นประเทศเดียวที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวก คาดปีนี้จะเติบโตร้อยละ 1.9 และปีหน้าจะเติบโตร้อยละ 8.2 ทั้งนี้ เมื่ออาศัยการจัดงาน CIIE ผนวกรวมกับตลาดจีนซึ่งมีพื้นฐานที่เปิดกว้าง น่าเชื่อถือ และมีเสถียรภาพนั้น จะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโลกแตกหน่อต่อยอดได้อีกครั้ง
สำหรับประเทศไทยและอาเซียนแล้ว จีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญมาโดยตลอด
สถิติจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน2563 จีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้ากับไทยสูงที่สุด โดยไทยส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ในจำนวนนี้ ผลไม้ไทย (ทั้งประเภทสด แช่เย็น แช่แข็งและอบแห้ง) มีมูลค่าส่งออกสูงสุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.6 รองลงมาคือยางพาราส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.8 ปัจจุบัน จีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 2 ของไทย ครองสัดส่วนร้อยละ 13 ของการส่งออกทั้งหมด รองจากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 15
ภายใต้สถานการณ์ที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่รุนแรง ประเทศไทยสามารถที่จะอาศัยโอกาสจากการเข้าร่วมงาน CIIE เพื่อขยายการส่งออกไปจีน และเพิ่มบทบาทของตลาดจีนต่อภาคเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้าในงาน CIIE ต่อเนื่องมาตั้งแต่ครั้งแรก โดยปีนี้มีสินเข้าร่วมจัดแสดงกว่า 150 รายการ แบ่งพื้นที่จัดแสดงเป็น 5 โซน ได้แก่ สินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์เกษตร สินค้าอุปโภค สินค้าบริการ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
การจัดงาน CIIE ในปีนี้ยังสอดรับกับประเด็นร้อนเรื่องโควิด-19 โดยนอกจากพื้นที่จัดแสดงหมวดอุปกรณ์การแพทย์และผลิตภัณฑ์รักษาสุขภาพ (Medical equipment and healthcare products) แล้ว ยังมีโซนพิเศษสำหรับสินค้าเพื่อสุขภาพและสาธารณสุข รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการการป้องกันการแพร่ระบาดฯ ด้วย ซึ่งจะกลายเป็นเวทีแลกเปลี่ยนสำคัญสำหรับนานาชาติด้านการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ช่วยให้ประเทศอื่นสามารถเอาชนะโควิด-19 และทำให้ระบบเศรษฐกิจสังคมกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
การจัดงาน CIIE ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่จีนจะแสดงบทบาทในการช่วยให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกฟื้นคืนการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้โดยเร็ว โดยสร้างโอกาสให้ประเทศต่างๆ เข้าถึงตลาดจีนที่กว้างใหญ่ได้มากขึ้น
# พัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ อาศัยพลัง “สองวงจร” #
ขณะนี้ จีนได้กำหนดรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ โดยจะอาศัยวงจรการบริโภคภายในประเทศเป็นกำลังหลัก ผสานกับวงจรเศรษฐกิจระหว่างจีนกับต่างประเทศ กลายเป็น “สองวงจร (双循环)” ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้เติบโตต่อไป พร้อมทั้งรับมือกับความเสี่ยงและความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เสียสูญไปในขณะนี้ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาและความรับผิดชอบของจีนที่จะผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจโลก
ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของจีน เชื่อมั่นว่าจีนจะเป็นพลวัตสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว พร้อมทั้งแสดงให้อาเซียนเห็นว่า จีนมิใช่เป็นเพียงเพื่อนเก่าแก่ แต่ยังเป็นเพื่อนที่พึ่งพาได้ในยามยาก !
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เห็นชัดถึงความไม่แน่นอนของการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าโลก และความไร้เสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรม-ห่วงโซ่อุปทานโลก ดังนั้น ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องขยายการเปิดกว้าง ยืนหยัดในความร่วมมือพหุภาคี จึงจะทำให้โลกรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้โดยเร็ว
ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ CIIE จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง ในฐานะที่จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จีนมิได้เป็นเพียงตลาดขนาดมหึมาเท่านั้น แต่ยังเพรียบพร้อมด้วยเงินทุนและเทคโนโลยี ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่นำโดยประเทศจีนย่อมมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง
# จากการค้าเสรี สู่ “ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน” #
รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือพหุภาคีและการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) มาโดยตลอด จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมี FTA รวมทั้งหมด 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ประโยชน์ที่ไทยได้รับนับตั้งแต่วันบังคับใช้ FTA กับจีน ทำให้การส่งออกจากไทยไปจีนขยายตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 291.3 เพื่อกระชับความร่วมมือด้านการค้ากับจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ไทยมีส่วนผลักดันให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) บรรลุผลโดยเร็ว
นอกจากนั้น ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีน ยังมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของไทยอย่างมาก รัฐบาลไทยแสดงท่าทีหลายครั้งว่าสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับ BRI โดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ และเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือ Greater Bay Area (GBA) ของจีน ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยขยายการส่งออกสินค้าไทยให้เข้าสู่ตลาดจีนได้มากขึ้น แต่ยังช่วยเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าไปยังตลาดเอเชียกลางและยุโรปด้วย
ความเชื่อมโยงทางกายภาพที่ทำให้การไปมาหาสู่กันระหว่างไทย-จีนสะดวกยิ่งขึ้น ยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากจีนมายังประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันความคืบหน้าของยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทย อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รถยนต์พลังงานใหม่ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ฯลฯ
ขณะเดียวกัน การจัดงาน CIIE ยังช่วยผลักดันแนวคิดการสร้างสรรค์ “ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน” (人类命运共同体) ของจีน สืบเนื่องจากยุคสมัยที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป ทั่วโลกได้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และระบบนิเวศที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มนุษยชาติต้องเผชิญกับปัญหาหนักที่ต้องอาศัยการร่วมมือกันแก้ไข
ท่ามกลางความท้าทายที่ใหญ่หลวงเหล่านี้ ประชาคมโลกนับวันจะยิ่งตระหนักถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างกันและการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เข้าใจแนวคิด “ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน” ลึกซึ้งขึ้น
ปัจจุบัน การสกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19 และการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกเป็นสองปัญหาหนักหนาสุดที่ทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกัน การที่จีนยืนหยัดจัดงาน CIIE จึงเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบจีนในการช่วยประชาคมโลกให้ผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกันได้โดยเร็ว
บทความโดย อรสา รัตนอมรภิรมย์ ศูนย์อาเซียน–จีนศึกษา
โพสต์ที่เกี่ยวข้อง
จีนชูบทบาทใหม่ “ผู้นำเข้าโลก” ผ่านงาน CIIE ย้ำจุดยืนหนุนการค้าเสรีและระบบพหุภาคี
https://mgronline.com/china/detail/9610000111699